25 ก.ย. 67 – มติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้ถอนร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... หรือ กฎหมายไม่ตีเด็ก กลับไปพิจารณาในคณะกมธ.วิสามัญ อีกครั้ง หลังมีข้อสังเกตเรื่องแก้ไขหลักการจากวาระแรก และแนวโน้มเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบกับการแก้ไข 

image

            การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2567 ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... หรือกฎหมายไม่ตีเด็ก ซึ่งนายนายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กับคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านวาระรับหลักการจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 โดยนายสรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ ประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงผลการพิจารณาศึกษาว่ามีการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 3 โดยปรับถ้อยคำให้มีความเหมาะสม มีเจตนาเพื่อให้สิทธิการลงโทษเด็กของผู้ปกครองในการว่ากล่าว สั่งสอน ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ปกครองมีทัศคติที่ดีในการดูแลบุตร มีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุตรมากกว่าการสร้างความหวาดกลัวและขาดความรักความผูกพันที่แน่นแฟ้น นอกจากนี้คณะกมธ.วิสามัญฯ ยังมีข้อสังเกตเพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พิจารณาปรับปรุงกฎหมายในความรับผิดชอบ ดำเนินการให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทั้งนี้ย้ำว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ต้องการจะห้ามปรามผู้ปกครอง แต่ต้องการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงบุตรอย่างถูกวิธี

          ด้านนายปารมี ไวจงเจริญ คณะกมธ.วิสามัญฯ ในฐานะผู้สงวนความเห็น ขอแก้ไขเพิ่มเติมความในมาตรา 1567 (2) จากเดิมที่กำหนดให้ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิทำโทษบุตรตามสมควร เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เปิดช่องให้ผู้ใช้อำนาจปกครองสามารถลงโทษบุตรได้อย่างไม่จำกัดวิธีการ จนนำไปสู่การกระทำทารุณกรรมและการทำร้ายร่างกาย ส่งผลต่อสภาพร่างกาย จิตใจ และพัฒนาการของบุตร โดยนายปารมี กล่าวว่าต้องการให้เปลี่ยนถ้อยคำจากทำโทษบุตรตามสมควร เป็นผู้ปกครองมีสิทธิอบรมสั่งสอน เพื่อปรับพฤติกรรมโดยไม่มีความรุนแรง ทั้งนี้จากการแก้ไขของคณะกมธ.วิสามัญ ได้ยกเลิกความใน (2) ของมาตรา 1567 และให้ใช้ข้อความที่ระบุว่า ทำโทษบุตรเพื่อสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรมโดยต้องไม่กระทำด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือการกระทำโดยมิชอบ อันเป็นการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุตร ตนเองจึงมีความเห็นพ้องกันกับคณะกมธ.เสียงข้างมากในเรื่องดังกล่าว 

         จากนั้น สส.ในที่ประชุมได้อภิปรายในประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง อาทิ นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ มองว่าการแก้ไขในมาตรา 3 เป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ปกครองในการดูแลเลี้ยงดูบุตร เกรงว่าการดูแลบุตรหลานจะมีความลำบากในอนาคตเมื่อการเฆี่ยนตีบุตรมีความผิดตามกฎหมาย นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่าจากการแก้ไขถ้อยคำของคณะกมธ.วิสามัญยังมีความคลุมเครือ มองว่าจะเป็นปัญหาในการบังคับใช้ ขณะที่นางสาวพิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ สส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน อภิปรายสนับสนุนต่อร่างกฎหมายดังกล่าว โดยระบุว่า ประเทศไทยได้ให้คำมั่นโดยสมัครใจไปแล้วในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) รอบที่ 2 (พ.ศ. 2559-2563) ว่าจะปรับแก้กฎหมายและควบคุมบทลงโทษด้วยความรุนแรงต่อบุตร ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ มองว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะส่งเสริมให้บุตรเติบโตอย่างปลอดภัยมากขึ้น ส่วนนายชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากแนวโน้มการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีการคัดค้านเป็นส่วนใหญ่ โดยเสนอให้ถอนไปพิจารณาใหม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าจากการศึกษาหลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้ ถ้อยคำในหลักการถูกแก้ไขทั้งหมด ซึ่งการพิจารณาในวาระที่ 2 ต้องไม่มีการแก้ไขหลักการ จึงมองว่าไม่เป็นไปตามหลักการตรากฎหมาย

         ด้านนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคประชาชน กล่าวว่าเนื้อหาการอภิปรายแตกเป็นสองฝั่งทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้จากการกล่าวของนายชลน่าน ถือเป็นการวินิจฉัยว่าเสียงของสมาชิกส่วนใหญ่ ไม่เห็นชอบ ซึ่งไม่เป็นไปตามกระบวนการทางนิติบัญญัติ จึงเสนอให้คณะกมธ.วิสามัญ พิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ทั้งนี้นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมขณะนั้น ต่อจากนายพิเชษฐ์ ได้สั่งพักการประชุมเพื่อเปิดโอกาสให้คณะกมธ.วิสามัญ ได้หารือ โดยผลปรากฏว่าคณะกมธ.วิสามัญ ขอถอนร่างกฎหมายดังกล่าวไปพิจารณาใหม่ โดยไม่มีเสียงคัดค้านจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ