19 ก.ย. 67- กมธ.สาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ติดตามปัญหางบบัตรทอง 30 บาท พบโรงพยาบาลขาดทุนในการดูแลผู้ป่วยบัตรทองในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังได้รับการจัดสรรงบฯ ผู้ป่วยในไม่เพียงพอ แนะทางแก้ระยะสั้นค่าใช้จ่ายผู้ป่วยควรอยู่ที่ขั้นต่ำ 8,350 บาทต่อหน่วย ระยะกลางงบฯ ผู้ป่วยในปี 68 ต้องไม่เปลี่ยนไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น ส่วนระยะยาวต้องนำต้นทุนจริงมาคำนวณกรอบงบประมาณ ปรับแก้ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เหมาะสม

image

            นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง แถลงข่าวถึงผลการประชุมในประเด็นงบประมาณในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” ที่มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีปัญหาในเรื่องผลกระทบงบประมาณผู้ป่วยในไม่เพียงพอ ที่ส่งผลให้มีโรงพยาบาลออกมาสะท้อนถึงปัญหาขาดทุนในการดูแลผู้ป่วยบัตรทองในช่วงต้นปีที่ผ่าน โดยคณะกรรมาธิการได้มีการเชิญ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลสระบุรี มาให้ข้อมูลชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้น

             ทั้งนี้ พบว่า ปีงบประมาณ 2567 ด้วยจำนวนผู้ป่วยในที่เข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้นหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 โรคที่ซับซ้อนมากขึ้น ศักยภาพในการรักษาโรคที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น ทำให้งบประมาณที่ได้จัดสรรจำนวน 40,269 ล้านบาท คาดว่าจะไม่เพียงพอในการจ่ายที่อัตรา 8,350 บาทต่อหน่วย จนถึงสิ้นปีงบประมาณ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น และได้มีมติให้ปรับอัตราจ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นไป ในอัตรา 7,000 บาทต่อหน่วย พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ฯ ได้พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนการให้บริการ สาเหตุของปัญหาและเงินบำรุงคงเหลือ หลังหักหนี้สินของโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งที่อยู่ในระบบหลักประกัน เพื่อแก้ไขปัญหา และพิจารณาต้นทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงความเป็นไปได้ในการขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวันนี้ (19 ก.ย.67) ทางชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลสระบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ ได้มีข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการ คือ ในระยะสั้น ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในต้องจ่ายในอัตราขั้นต่ำ 8,350 บาทต่อหน่วย  ในระยะกลางงบผู้ป่วยในปีงบประมาณ 2568 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องไม่เปลี่ยนไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น และในระยะยาวต้องนำต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงมาคำนวณกรอบงบประมาณ การเพิ่มสิทธิประโยชน์จะต้องมีงบประมาณมาสนับสนุนเพิ่มเติม และปรับแก้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เหมาะสม เช่น ยกเลิกการหักเงินเดือนในค่าบริการผู้ป่วยใน ปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เพิ่มองค์ประกอบของผู้ให้บริการ และกระจายอำนาจให้ระดับเขตสุขภาพมากกว่าส่วนกลาง

          นอกจากนี้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการบริการของโรงพยาบาลในการดูแลประชาชน ทางคณะกรรมการ สปสช. ยังได้เสนอของบกลางเพิ่มเติมจากรัฐบาล โดยเมื่อวันอังคารที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณ จำนวน 5,924 ล้านบาท โดยจำนวนนี้นอกจากสนับสนุนการดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่แล้ว จำนวนหนึ่งยังสามารถนำมาบริหารจัดการจ่ายชดเชยค่าบริการผู้ป่วยใน ซึ่งคณะกรรมการ สปสช. จะได้มีการหารือแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 23 ก.ย. นี้

 

 

เรณู เขมาปัญญา ข่าว เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ