2 ก.ค. 67 – ประธานคณะ กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ สผ. ขอ กกต.เร่งตรวจสอบข้อร้องเรียน และรับรองผลการเลือก สว. เพื่อกลไกทางการเมืองเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมเผย กมธ.เชิญ กกต.ให้ข้อมูลถอดบทเรียนการเลือก สว.ชุดใหม่ วันที่ 4 ก.ค.นี้

image

             นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกระบวนการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่าเมื่อดำเนินการมาถึงขั้นตอนนี้แล้วสิ่งที่สำคัญเฉพาะหน้า คือจะทำอย่างไรให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)เร่งตรวจสอบข้อร้องเรียนให้เร็วที่สุดเพื่อจะรับรองผลการเลือก สว. ชุดใหม่โดยเร็ว แม้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. จะไม่มีข้อบัญญัติว่าต้องประกาศผลภายในกี่วัน ตามที่ตนได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้แล้วก่อนหน้า กฎหมายระบุเพียงว่าหลังจากการคัดเลือกเสร็จให้รอไว้ 5 วัน ซึ่งไม่เหมือนกับการเลือกตั้ง สส. ที่ระบุระยะเวลาไว้ชัดเจน ดังนั้นมองว่าเพื่อให้กลไกทางการเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้ จึงต้องการให้ กกต. เร่งตรวจสอบข้อร้องเรียน และประกาศรับรองผลเพื่อให้มี สว.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่สำคัญ ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึงอำนาจในการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สว.ชุดใหม่จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตการเมืองไทยต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเกิน 1 ใน 3 จาก สว. ถือเป็นการพิสูจน์ถึงการทำหน้าที่ หลังจากที่พรรคการเมืองได้ยื่นเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาทั้งในรูปแบบที่เสนอแก้ไขทั้งฉบับ และแก้ไขรายมาตรา

             นายพริษฐ์ กล่าวต่อไปว่าสำหรับร่างที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น ยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณา จนกว่าจะทำประชามติรอบแรกก่อน เมื่อผ่านประชามติรอบแรกจนนำไปสู่การบรรจุระเบียบวาระแล้ว ยังต้องพิจารณาต่อไปถึงเรื่องที่มาและองค์ประกอบของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ยังมีข้อถกเถียง โดยร่างฉบับของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยืนยันว่า ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่หากมีการเสนอที่มาของ ส.ส.ร. ในหลากหลายรูปแบบ ย่อมนำไปสู่การมีบทบาทมากของ สว.ต่อเรื่องนี้เช่นกัน รวมทั้งจะต้องใช้ระยะเวลานาน 1- 2 ปี ส่วนการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ใช้เวลาน้อยกว่า จึงอาจจะมีการเสนอให้แก้ไขรายมาตราคู่ขนานไปด้วย กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ถือเป็นบทพิสูจน์ว่า สว.ชุดใหม่จะมองเรื่องนี้อย่างไรเช่นกัน

             นายพริษฐ์ เผยด้วยว่าในวันพฤหัสบดีที่ 4 ก.ค. นี้ คณะ กมธ.ได้เชิญ กกต. เข้ามาถอดบทเรียนและเข้ามาตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการเลือก สว.ชุดใหม่อีกด้วย

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว /เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ