4 ก.ค.67 - เลขานุการ กมธ.วิสามัญ พิจารณาแนวทางตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาฯ เผย ที่ประชุมเห็นพ้องเสนอการนิรโทษกรรมแบบผสมผสาน ภายใต้คณะกรรมการกลั่นกรอง พร้อมเห็นควรตั้งคณะกรรมการนิรโทษฯ พิจารณารายงานคดีที่หน่วยราชการเสนอ ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการตาม พ.ร.บ.นิรโทษฯ

image

   นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงผลการประชุม กมธ.วิสามัญฯ พิจารณา แนวทางการตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวันนี้ (4 ก.ค.67) ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือและมีความเห็นชอบร่วมกันเสนอให้มีการนิรโทษกรรมโดยใช้รูปแบบผสมผสาน โดยให้เป็นไปโดยอัตโนมัติ และมีคณะกรรมการกลั่นกรองด้วย ภายใต้หลักการ คือ เมื่อมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมไปแล้ว ผู้มีสิทธิ์ตามกฎหมายและประสงค์จะใช้สิทธิ์ให้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ แล้วหากคดีที่ยื่นแล้วอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน ให้พนักงานตำรวจเป็นผู้ยุติการสอบสวน ถ้าอยู่ในขั้นตอนของพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการถอนฟ้อง ถ้าจำเลยถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำ ให้ศาลพิจารณาออกหมายปล่อย ถ้ากรณีคดีมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วและถูกจำขังอยู่ สามารถให้กรมราชฑัณฑ์ออกหมายปล่อยตัวจากการคุมขัง ส่วนเรื่องประวัติ ในกรณีที่คดีถึงที่สุด ผู้เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิด ประสงค์จะขอให้ลบล้างประวัติ สามารถยื่นคำร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เพื่อให้ประวัติกรณีดังกล่าวหายไป 

   ทั้งนี้ ในหลักการ กำหนดให้หน่วยงานราชการผู้ที่จะต้องดำเนินการตามรายละเอียดข้างต้น ต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับคดี เสนอต่อกรรมการเพื่อพิจารณา ซึ่งหากกรรมการไม่มีความเห็นแย้งภายใน 15 วัน ให้สามารถออกหนังสือดำเนินการได้ และผู้ได้รับสิทธิ์พิเศษมีสิทธิ์ยื่นคำร้องให้ดำเนินการได้หากมีการตกหล่นไป

   นอกจากนี้ ที่ประชุม กมธ.วิสามัญฯ ในวันนี้ ได้มีข้อสรุปเรื่ององค์ประกอบคณะกรรมการนิรโทษกรรมแบบผสมผสาน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ และมีกรรมการโดยตำแหน่งจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกระบวนการยุติธรรม จำนวนด้านละหนึ่งคน โดยมาจากการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตลอดจน มีกรรมการผู้แทนองค์กรภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เกี่ยวกับบริบท ทางการเมืองการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งเลือกกันเองจำนวนสามคน ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขที่ ครม. ประกาศกำหนด พร้อมกำหนดให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นกรรมการและเลขานุการ 

   นายนิกร กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการนิรโทษกรรมแบบผสมผสาน มีหน้าที่และอำนาจ พิจารณารายงานคดีที่จะให้นิรโทษกรรมตามที่หน่วยราชการเสนอมา หากมีความเห็นแย้งให้ตอบกลับไปภายใน 15 วัน รวมถึงพิจารณาอุทธรณ์ กรณีที่หน่วยงานมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีอยู่ไม่ดำเนินการ มีสิทธิ์ยื่นคำร้องมาที่กระบวนการยุติธรรม ถ้าได้รับการปฏิเสธ ให้มายื่นที่คณะกรรมการเพื่อดูแลเรื่องการอุทธรณ์ให้ ขณะเดียวกันคณะกรรมการชุดนี้สามารถหยิบยกคดีตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขึ้นมา เพื่อขอให้นิรโทษกรรม ได้ ส่วนการชี้ขาดให้นำมาสู่กระบวนการใดตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ด้วย นอกจากนี้ คณะกรรมการชุดนี้ จะรายงานการปฏิบัติหน้าที่ประจำปีต่อ ครม. และเสนอต่อรัฐสภา เพื่อทราบและเผยแพร่ต่อสาธารณชน ต่อไป 

   นายนิกร กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การประชุมครั้งถัดไปของ กมธ.วิสามัญฯ จะมีการพิจารณาในเรื่องหลัก คือ การไม่ให้กระทำความผิดซ้ำ และการคืนสิทธิ์บางอย่างให้ รวมถึงจะมีการพิจารณาว่าฐานความผิดว่าประกอบด้วยฐานความผิดอะไรบ้าง ส่วนกรณีฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะครอบคลุมการนิรโทษกรรม ด้วยหรือไม่ คาดว่า ภายใน 2 สัปดาห์หลังจากนี้จะมีการพิจารณาและได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่า การพิจารณาของที่ประชุม กมธ.วิสามัญฯ อาจจะแล้วเสร็จอย่างเร็วที่สุดภายในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ หรืออย่างช้า อาจขยายเวลาไปอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ของเดือนสิงหาคม 2567 

 

คณรัตน์ ยินดีมิตร / ข่าว / เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ