2 ก.ค. 67 - โฆษก กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร แจงข้อได้เปรียบของเวียดนาม ที่กระทบเศรษฐกิจไทย จี้รัฐบาลเร่งขยายเขตชลประทาน ส่งเสริมงานวิจัยข้าว เพื่อเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน คงคุณภาพมาตรฐานข้าวไทย

image

            นายชัชวาล แพทยาไทย โฆษกกรรมาธิการ(กมธ.)การเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงผลการดูงานด้านการเกษตร ณ ประเทศเวียดนาม ของคณะกรรมาธิการ ว่าจากการที่เวียดนามมีแนวโน้มที่การก้าวกระโดดขึ้นสู่ผู้นำอาเซียนด้านการลงทุน จึงถือเป็นความท้าทายของไทย และจากข้อมูลของกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ทำให้ทราบว่าสภาพทั่วไปของเวียดนาม เป็นประเทศที่มีพื้นที่เล็กกว่าไทย แต่มีประชากรเกือบ 100 ล้านคน ซึ่งมากกว่าไทย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงานที่พร้อมทำงาน ซึ่งการมีทรัพยากรมนุษย์ในวัยที่พร้อมทำงานนี้เอง เป็นสิ่งสร้างแรงจูงใจที่สำคัญของนักลงทุนในการเลือกเวียดนามเป็นฐานการผลิต เนื่องจากมองว่ามีปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่างทรัพยากรมนุษย์ (Man) อีกทั้งเวียดนามมีสินค้าการส่งออกที่สำคัญเหมือนกันกับไทย โดยเฉพาะข้าว ผลไม้ สินค้าการเกษตรเกือบทุกชนิด มีการส่งออกปริมาณรวมทั้งสิ้น 2.18 ล้านตัน จึงทำให้กลายเป็นคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญไทย เวียดนามมีการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ แบบสังคมนิยม การตัดสินใจด้านนโยบายอยู่ที่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ทำให้ข้อสั่งการมีความรวดเร็ว ตอบโจทย์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินของเวียดนาม ประชาชนชาวเวียดนามมีความเป็นมิตรกับชาวไทย มองชาวไทยและประเทศไทยว่าเป็นต้นแบบในการพัฒนา
            นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้เข้าดูงาน ณ นครเกิ่นเทอ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง แหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของเวียดนาม ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันวิจัยข้าว รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาองคาพยพของการผลิตข้าว ตั้งแต่ต้นน้ำและปลายน้ำของการผลิต โดยให้ความสำคัญในการสร้างโครงข่ายระบบชลประทาน ครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 80% ที่สำคัญเวียดนามมีการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อสภาพภูมิศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ สามารถเก็บได้นาน และยังรักษาอัตลักษณ์ความเป็นข้าวของเวียดนามได้ การกำหนดและเดินตามนโยบาย "ลด 3 เพิ่ม 3" คือ ลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสม ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดการใช้ยาปราบศัตรูพืชและวัชพืช ส่วนเพิ่ม 3 คือ เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ และเพิ่มผลกำไร นโยบายนี้ทำให้ชาวนาเวียดนามมีกำไรเพิ่มขึ้นอีก 20% ส่วนปลายน้ำการผลิต รัฐบาลเวียดนามเล็งเห็นถึงตลาดการส่งออก สร้างความน่าเชื่อถือให้พันธุ์ข้าวของเวียดนาม และยังให้ความสำคัญในการผลักดันนโยบาย Net Zero Emission โดยการผลิต "ข้าวคาร์บอนต่ำ (Low Cabon Rice)" เพื่อตอบโจทย์ประเทศคู่ค้ากลุ่มตลาดข้าวพรีเมียมที่ใส่ใจเรื่องลดโลกร้อนและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ดังนั้น รัฐบาลไทยต้องหันมาให้ความสำคัญกับการขยายเขตชลประทาน ผนวกกับการสร้างงานวิจัยข้าวให้ออกมาเป็นรูปธรรม ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ อย่าให้เป็นเพียงวาทกรรม


อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ