13 มิ.ย.67 - กกต. ยืนยันกรณียื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล เป็นไปตามมาตรา 92 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ เทียบเคียงกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ ชี้หากไม่ดำเนินการก็จะมีความผิด ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรพร้อมเคารพดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ

image

        นายปกรณ์  มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมด้วยดร.ฐิติเชฏฐ์  นุชนาฏ กกต. นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีที่ เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรค ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) โดยศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำสั่งให้ กกต. ผู้ร้องยื่นบัญชีระบุ พยานหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย.67 และกำหนดนัดพิจารณาต่อไป ในวันอังคารที่ 18 มิ.ย.67 ว่า สิ่งที่ กกต. อยากทำความเข้าใจกับประชาชนถึงเหตุผลที่ กกต. จำเป็นต้องยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับลงวันที่ 31 ม.ค.67 ได้ระบุชัดเจนว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำวินิจฉัยนี้ กกต. ไม่อาจทำอย่างอื่นได้เลย เพราะเมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใด กระทำการตาม มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงเป็นหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ร้องมีการกระทำความผิดจริง หาก กกต. ไม่ยื่น ก็จะตอบสังคมได้ยาก นอกจากนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีผลผูกพันกับทุกองค์กร รวมถึง กกต. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 (4) และมีผู้ร้องในเรื่องนี้ ทำให้ กกต. จำเป็นต้องยื่น หากไม่ยื่น กกต.ก็จะมีความผิดตามกฎหมายได้ อย่างไรก็ตาม การยื่นคำร้องของ กกต.ครั้งนี้ เป็นการยื่นตามมาตรา 92 ตาม พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จึงไม่มีเหตุที่จะต้องไต่สวน เพียงแต่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า กกต. ต้องปฏิบัติตาม กรณีนี้ กกต. ได้ปฏิบัติแนวทางเดียวกับกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า เมื่อผู้ร้อง คือ กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ถูกร้อง คือ พรรคไทยรักษาชาติ ได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคผู้ถูกร้องตาม มาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงรับคำร้องไว้พิจารณา

        นายปกรณ์ กล่าวชี้แจงว่า การยื่นคำร้องของ กกต. ครั้งนี้ เป็นการยื่นตามมาตรา 92 โดยระเบียบการไต่สวนของ กกต. มี 2 ฉบับ โดยฉบับแรก คือ บังคับใช้ทั่วไปตามระเบียบ กกต.ปี 2561 ซึ่งใช้ทุกกรณี หากเกิดการร้องว่ามีการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม แต่กรณีการดำเนินการตามมาตราที่หลายฝ่ายกล่าวอ้างว่า เหตุใด กกต. ไม่แจ้งข้อกล่าวหา และไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและแสดงพยานหลักฐาน ตนขอชี้แจงว่ากรณีดังกล่าว เป็นกรณีที่จะต้องดำเนินการตามมาตรา 93 ของกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่ามีการกระทำดังกล่าว นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เสนอต่อ กกต. โดยระเบียบดังกล่าวใช้เฉพาะตามมาตรา 93 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าไม่เกี่ยวกับมาตรา 92 ซึ่งการดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมืองจะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง จะเห็นได้ว่าการดำเนินการตามมาตรา 92 และมาตรา 93 มีระเบียบวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ กกต. ต้องทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนและให้ประชาชน เพื่อให้เกิดความกระจ่าง

        นายปกรณ์ กล่าวยืนยันว่า กกต. เป็นผู้ปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอน จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองไม่ได้ แต่เมื่อใดมีผู้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย และแก้ไขกฎหมาย อาทิ ไม่มีการบัญญัติกฎหมายเรื่องยุบพรรคการเมือง ถึงเวลานั้น กกต. ก็ไม่สามารถยุบพรรคการเมืองได้ อย่างไรก็ตาม การทำงานของ กกต. บางครั้งอาจเกิดความเข้าใจสับสนบ้าง แต่ กกต. ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ แต่ผลจะออกมาเป็นอย่างไร กกต. เคารพดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข้อมูล/ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ