19 มิ.ย. 67 - นายกรัฐมนตรี ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 68 มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลาง 8 อุตสาหกรรม บนพื้นฐานการเป็นรัฐบาลดิจิทัล โปร่งใส ย้ำจะใช้ภาษีประชาชนอย่างคุ้มค่าและเป็นไปตามกฎหมาย 

image

            นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่ามีวงเงินงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท โดยปีนี้ไม่มีการตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลังเหมือนปีงบประมาณที่ผ่านมา มีเหตุผลเพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ทั้งนี้สามารถจำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,704,575 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72.1 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 908,224 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งเป็นสัดส่วนลงทุนสูงที่สุดในรอบ 17 ปี และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 150,100 ล้านบาท ส่วนงบกลางกำหนดไว้ที่จำนวน 805,745 ล้านบาท

         นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่าจากการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว ร้อยละ 2.5 – 3.5 อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ร้อยละ 0.7 - 1.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) ซึ่งการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ของรัฐบาลมีจุดหมายเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ สร้างรายได้ให้ประชาชนและประเทศ ผ่านการดำเนินการตามโยบายภาครัฐที่ได้แถลงต่อรัฐสภาไว้ และวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ประกอบด้วย การพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลาง 8 อุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดจุดแข็งของประเทศ ประกอบด้วย การเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ ศูนย์กลางอาหาร ศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล และศูนย์กลางทางการเงิน บนการพัฒนา 6 พื้นฐานสำคัญ ได้แก่ การเป็นรัฐบาลดิจิทัล โปร่งใส ความเสมอภาคเท่าเทียม ความสะอาด ปลอดภัย การเข้าถึงระบบการศึกษาทุกวัย พลังงานสะอาด มั่นคง และผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ โดยได้นำมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณ การพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งคำนึงถึงความสอดคล้องของภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง

          นอกจากนี้งบประมาณปี พ.ศ. 2568 ต้องดำเนินการเพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยสอดคล้องตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ด้านความมั่นคง ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 405,412.80 ล้านบาท เพื่อพัฒนาความมั่นคงของประเทศ อาทิ การแก้ปัญหายาเสพติด การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การขับเคลื่อนแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 2.ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 398,185.90 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ความมั่นคงทางพลังงาน การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการจากอนาคต และการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม 3.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 538,023.40 ล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน อาทิ การเสริมสร้างศักยภาพด้านกีฬา การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ และการสร้างสุขภาวะที่ดีตลอดช่วงชีวิต 4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 923,851.40 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยมีสวัสดิการพื้นฐานและเข้าถึงบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง อาทิ การเตรียมพร้อมรับสังคมสูงวัย การจัดการทรัพยากรที่ดิน และการสร้างพลังทางสังคม 5.การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 137,291.90 ล้านบาท เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และดำเนินการเศรษฐกิจสีเขียว อาทิ การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ 6.การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 645,880.90 ล้านบาท เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพ มุ่งผลสัมฤทธิ์ ประโยชน์ส่วนร่วม อาทิ การต่อต้านทุจริต พัฒนารัฐบาลดิจิทัล และพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินจำนวน 248,800 ล้านบาท และแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐอีกจำนวน 410,253.70 ล้านบาท อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะใช้จ่ายงบประมาณเพื่อดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ และจะดำเนินการตามกรอบการเงินการคลัง ใช้ภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดและเป็นไปตามกฎหมาย

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว /เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ