18 มิ.ย. 67 – มติสภาผู้แทนราษฎร 451 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยึดฉบับของ ครม. เป็นหลักในการพิจารณา แก้ข้อจำกัดเรื่องเสียงข้างมาก 2 ชั้น ให้เสียงผ่านประชามติด้วยจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง

image

        ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนมีมติให้ความเห็นชอบในวาระรับหลักการต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ รวมทั้งร่างที่มีหลักการใกล้เคียงกันที่ สส.พรรคเพื่อไทย สส.พรรคก้าวไกล และ สส.พรรคภูมิใจไทยเสนอ รวมจำนวน 4 ฉบับ ด้วยเสียง 451 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย พร้อมเห็นชอบกับตั้งคณะกรรมาธิการทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายด้วยจำนวนสมาชิก 31 คน ประกอบด้วยตัวแทน ครม.7 คน ตัวแทนพรรคการเมือง 24 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน และมีมติให้ใช้ร่างฉบับของ ครม. เป็นร่างหลักในการพิจารณา

       สำหรับสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับที่ ครม. เสนอ เป็นการแก้ไขกฎหมายประชามติฉบับปี 2564 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกำหนดจำนวนเสียงผ่านประชามติต้องผ่านเกณฑ์สองเงื่อนไข (ระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้นหรือ double majority) ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และต้องได้จำนวนเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง ถือเป็นสาเหตุให้การออกเสียงในแต่ละครั้งอาจไม่ประสบความสำเร็จ ต้องเสียงบประมาณจำนวนมาก แต่สำหรับร่างกฎหมายที่ ครม. เสนอนี้มีประเด็นสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่มีผลต่อการผ่านหรือไม่ผ่าน ในขณะที่เสียงผ่านประชามติให้มีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง และต้องมากกว่าเสียงไม่แสดงความคิดเห็น  ให้กำหนดวันทำประชามติอาจเป็นเดียวกับวันเลือกตั้ง สส. สมาชิกาภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้ออกเสียงทางไปรษณีย์หรืออิเล็กทรอนิกส์ได้ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดให้มีการแสดงความเห็นโดยอิสระเท่าเทียมทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ

        ทั้งนี้ ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และให้ยึดฉบับของ ครม.ในการพิจารณาแล้ว นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้แทนรัฐบาล กล่าวขอบคุณสมาชิกสภา พร้อมระบุถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากกฎหมายนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ประชาชนได้แสดงเจตจำนงต่าง ๆ อย่างเสรี พร้อมเชื่อว่าร่างกฎหมายนี้นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาการออกเสียงประชามติที่ไม่ประสบความสำเร็จ ยังช่วยให้การออกเสียงตามระบอบประชาธิปไตยมีความมั่นคงและเข้มแข็งมากขึ้น

ลักขณา เทียกทอง ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ