18 มิ.ย.67 - รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ยืนยัน ไม่เคยกล่าวหาประชาชนเป็นไอโอ แสดงความเห็นคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน หลังกลุ่มภาคีราชภักดี แจงไม่ใช่ไอโอโหวตคว่ำร่างกฎหมายฯ เหตุพบความผิดปกติในระบบรับฟังความเห็น

image

          นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง รับหนังสือจากกลุ่มภาคีราชภักดี นำโดยนายทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน และนายอัครวุธ ไกรศรีสมบัตร ประธานกลุ่มอาชีวะราชภักดี พร้อมคณะ เพื่อยืนยันว่าทางกลุ่มไม่ใช่ไอโอที่เข้าไปแสดงเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. .... ฉบับที่เสนอโดย นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 36,723 คน เปิดรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ผ่านเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ที่มีเสียงโหวตไม่เห็นด้วยถึงร้อยละ 64.66 สืบเนื่องจาก มีผู้พบความผิดพลาดของระบบการรับฟังความคิดเห็นหลายประเด็น คณะกรรมการขับเคลื่อนการรับฟังความคิดเห็นฯ จึงได้ร่วมกับสำนักสารสนเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบข้อมูลที่เป็นข้อสงสัยทำให้พบปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันที่ 11 - 12 มิ.ย.67 ก่อนปิดรับฟังความเห็น มีการเข้าใช้งานของผู้แสดงความเห็นผ่านเลข IP Address ที่ซ้ำกันเกิดขึ้นจริงเป็นจำนวนมาก และพบความผิดปกติหลายประการ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่ากลุ่มภาคีราชภักดี ซึ่งเป็นประชาชนคนไทย ได้รวมตัวเข้าไปแสดงความคิดเห็น เป็นบุคคลที่มีตัวตน มีบัตรประชาชนที่สามารถยืนยันตัวตนได้ จึงไม่ต้องการให้มีการกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มไอโอ จากการพบความผิดปกติทางระบบรับฟังความเห็นที่เกิดขึ้น เพียงเพราะเป็นกลุ่มที่มีความเห็นที่แตกต่างเท่านั้น
          ด้าน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวว่า ตนได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในวันที่ 11 - 12 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่ามีความผิดปกติในเว็บไซต์หลายประการด้วยกัน อาทิ การใช้งานถึง 5000 ครั้ง ใน Ip address คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง จึงต้องตรวจสอบระบบทั้งหมด ไม่ได้มีการกล่าวหาประชาชนที่มาแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายว่าเป็นกลุ่มไอโอ และไม่มีการเลือกปฏิบัติกับประชาชน ซึ่งทางรัฐสภาจะเก็บทุกความคิดเห็นอย่างยุติธรรมที่สุดไม่ว่าจะมีความเห็นแตกต่างกันอย่างไร แต่เมื่อตรวจสอบพบความผิดปกติต่อกระบวนการรับฟังความเห็น จำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งจากผู้แสดงความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์รัฐสภา เพราะเมื่อเกิดข้อผิดพลาดเกิดขึ้นทำให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐสภาได้ ซึ่งตนขออภัยเป็นอย่างยิ่งกับสิ่งผิดพลาดที่เกิดขึ้น และจะนำข้อผิดพลาดเหล่านี้ พร้อมทั้งข้อเสนอแนะจากประชาชนไปปรับปรุงระบบรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์รัฐสภาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ