1 ส.ค. 67 - คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร เผยสัปดาห์หน้า เตรียมเชิญอธิบดีกรมประมง และ 11 บริษัท แจงนำปลาหมอคางดำจากที่ไหน ไปส่งออก ย้ำยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องต้นตอการแพร่ระบาด ยืนยันไม่มีอคติ แค่หาข้อเท็จจริงส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

image

          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์  ประธานกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.อว.) สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการฯ พิจารณามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ว่า ได้เชิญ กรมบัญชีกลางและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือปัญหาข้อกฎหมาย ในเรื่องที่กรมประมงได้ทำหนังสือหารือไป ซึ่งแจ้งว่าได้ตอบหนังสือลงวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ว่า ตามแนวทางปฏิบัติสามารถใช้เงินเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้ โดยจะตอบเป็นหนังสือถึงกรมประมงอย่างเป็นทางการ ว่าสามารถใช้หลักเกณฑ์การใช้จ่สยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ 2563 ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
         นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังได้เชิญ ตัวแทนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เข้าชี้แจง โดยนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟ และคณะ ชี้แจงว่า ได้ดำเนินการทดลองนำเข้าปลาหมอคางดำ เป็นลูกปลาขนาดเล็กจำนวน 2,000 ตัว เข้ามา ในไทย จากประเทศกานา และเมื่อมาถึงสนามบินพบว่าตายไป 1,400 ตัว เหลือ 600 ตัว นำไปอยู่ในบ่อพักเลี้ยงปลา ซึ่งเป็นบ่อปูนที่ก่อสร้างไว้ และลูกปลาทยอยตายไปเรื่อย ๆ จนเหลือ 50 ตัว และได้นำส่งกรมประมงทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว โดยที่ทำเป็นหนังสือยืนยันกระบวนการทั้งหมด
          นายฐากร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ มีมติที่จะหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าส่วนของข่าวที่ออกไปว่ามี 11 บริษัท ที่ได้ส่งออกปลาหมอคางดำไปยัง 17 ประเทศ เมื่อปี 2556-2559 อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นั้น 11 บริษัทดังกล่าวนำปลามาจากไหน ซึ่งสัปดาห์หน้าคณะกรรมาธิการฯ จะเชิญอธิบดีกรมประมง มาชี้แจงอีกครั้ง รวมถึงตัวแทน 11 บริษัทมาชี้แจงว่า ปลาที่ส่งออกนั้นนำเข้ามาอย่างไร โดยเบื้องต้นกรมประมงชี้แจงว่ามีการลงชื่อกรอกในเอกสารผิด ว่าเป็นชื่อของปลาหมอคางดำ ดังนั้น สิ่งไหนที่เป็นข้อเท็จจริงและเอกสารจะพิจารณาตามนั้น ยืนยันว่าไม่ได้มีอคติกับใครในการพิจารณาเรื่องนี้ เป็นข้อเท็จจริงทางเอกสารที่หากได้ข้อสรุปก็จะส่งให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ที่กำลังดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้เช่นกัน
          นอกจากนี้ นายฐากร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ยังไม่ตัด ซีพีเอฟออกจากข้อสงสัยเรื่องต้นตอของการระบาด แต่ต้องการหาคำตอบว่า 11 บริษัท ได้ปลาหมอคางดำมาจากบริษัทใด เพราะทั้ง 11 บริษัทไม่ได้นำปลาหมอคางดำเข้ามา แต่กลับนำส่งออกได้ ดังนั้น จึงต้องหาต้นตอตรงนี้ ซึ่งเอกสารต้นทางเมื่อปี 2553 ที่ซีพีเอฟบอกว่านำเข้ามาและทำลายทั้งหมดแล้วหรือไม่ โดยซีพีเอฟได้บอก 4 ขั้นตอน ว่า กรมประมง ได้ตัดครีบปลา เพื่อนำส่ง ส่วนซากของปลา เป็นเรื่องที่กรมประมงต้องไปตรวจสอบ ขณะที่บ่อเลี้ยงที่บอกว่าเป็นบ่อปูน คณะกรรมาธิการฯ จึงขอหลักฐานการก่อสร้างที่ต้องได้รับอนุญาตจาก อบต.ยี่สาร และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ 11 บริษัทนำส่งออกไปนั้น มาจากที่ใด ส่งออกไปเป็นการลงชื่อผิดหรือไม่ เพราะกรมประมงยืนยันแจ้งว่ามีการกรอกชื่อผิด ซึ่งปลายทางประเทศต่าง ๆที่รับปลาแบบนี้ไปได้อย่างไร เพราะจะต้องมี TOR ทั้งหมดในการรับ คณะกรรมาธิการฯ จึงจะสอบถามข้อเท็จจริง
          ส่วนมาตรการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ นายฐากร กล่าวว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีแถลงมาตรการไปแล้ว 7 ข้อ ซึ่งทางซีพีเอฟ ยืนยันว่าจะช่วยเหลือรัฐบาลเพิ่มเติม จะใช้กรอบวงเงินประมาณ 450 ล้านบาท ซึ่งทางซีพีเอฟจะรับไปพิจารณาเพิ่มเติม ในการจะช่วยเหลือรัฐบาล นอกจาก 5 โครงการที่เคยเสนอมาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่กรมประมงจะใช้เงินทดรองราชการเยียวยาในส่วนนี้ ซึ่งหนังสือทางกรมบัญชีกลางบอกว่า เป็นไปตามระเบียบใช้เงินทดลองราชการ จึงเป็นจุดมุ่งหมายที่ดีของประชาชน แต่จะต้องสืบหาไปถึงต้นตอกระบวนการต่าง ๆ ว่าเป็นมาอย่างไร ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด โดยในที่ประชุมวันนี้ได้มีการซักถามกันครบทุกประเด็นและได้ขอเอกสารเพิ่มเติมจากซีพีเอฟ เช่น ใบอนุญาตการทำวิจัยในปี 2553 เป็นต้น และหลังได้ข้อสรุปทั้งหมดคณะกรรมาธิการฯ ก็จะนำส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ