13 ก.ย. 67 - คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมระดับโลกของยุวสมาชิกรัฐสภา ครั้งที่ 10 ณ สาธารณรัฐอาร์เมเนีย ระหว่างวันที่ 12-14 ก.ย. 67 ร่วมอภิปรายการดำเนินงานของไทยสอดคล้อง SDGs พร้อมนำเสนอนโยบาย "Digital Thailand" ขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี

image

           คณะผู้แทนรัฐสภาไทย ประกอบด้วย นางสาวผกามาศ เจริญพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย นายชลธานี เชื้อน้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนางสุมิตรา จารุกําเนิดกนก สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุมระดับโลกของยุวสมาชิกรัฐสภา ครั้งที่ 10 (The 10th IPU Global Conference of Young Parliamentarians) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 กันยายน 2567 ณ กรุงเยเรวาน สาธารณรัฐอาร์เมเนีย ภายใต้หัวข้อหลัก การไม่ทอดทิ้งรุ่นใดไว้ข้างหลัง : การคงสถานะการศึกษาและการจ้างงานในทุกสถานการณ์(Avoiding lost generations: Preserving education and employment in all circumstances) 
            โอกาสนี้ คณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมช่วงที่ 1 ในหัวข้อ Countdown to 2030 : Where are we on youth education and employment ? โดยมีการอภิปรายประเด็นความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 4 ว่าด้วยการศึกษา และเป้าหมายที่ 8 ว่าด้วยการจ้างงาน จากนั้น ประธานการประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนรัฐสภาจากหลากหลายประเทศร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นและแนวปฏิบัติที่ดีของรัฐสภาในเรื่องดังกล่าว 
           ในการนี้ นางสาวผกามาศ เจริญพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนฯ ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุมถึงความก้าวหน้าของไทยในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) เป้าหมายที่ 4  โดยเน้นนโยบายของไทยว่าด้วยการศึกษาทุกที่ทุกเวลา ด้วยแพลตฟอร์มการเรียนรู้เพื่อสร้างโอกาสให้กับทุกคนและลดความแตกต่างทางการศึกษา เน้นการยกระดับระบบการศึกษาให้ได้มาตรฐานสากลสอดคล้องกับ SDGs ส่วนการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ 8 ได้นำเสนอนโยบาย Digital Thailand ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การสนับสนุนการจ้างงานเยาวชนและส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เช่น การสนับสนุนทางการเงิน สินเชื่อและกองทุนเริ่มต้น เป็นต้น อีกทั้งยังได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่าเยาวชนและคนรุ่นใหม่กำลังมีบทบาทสำคัญในกระบวนการประชาธิปไตยของไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนยุวสมาชิกรัฐสภาในสภาผู้แทนราษฎรถึงร้อยละ 42 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานค่าเฉลี่ยของโลกที่มีจำนวนยุวสมาชิกรัฐสภาอยู่ที่ร้อยละ 31.6
           นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย คณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมช่วงที่ 2 ในหัวข้อ Young lives disrupted : The impact of crisis on youth socio-economic rights and empowerment ในการนี้ นางสุมิตรา จารุกําเนิดกนก สมาชิกวุฒิสภา ผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ร่วมอภิปรายเน้นประเด็นวิกฤตศรัทธาในคุณค่าของการศึกษาในระบบ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนจะต้องส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา และนายจ้างตระหนักถึงคุณค่าที่แท้จริงและจับต้องได้ของการศึกษา โดยสนับสนุนแนวนโยบาย 3 ประการ ได้แก่ 1. การสร้างความตระหนักรู้ด้านการศึกษาตลอดชีวิต โดยภาครัฐและเอกชนควรสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบของทุนการศึกษาให้ครอบคลุมทั้งประเทศ  2. รัฐบาลควรสนับสนุนให้ครูทำการวิจัยในสาขาที่ถนัดและนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ขณะเดียวกันเพิ่มผลประโยชน์และเงินเดือนตามการประเมินผลการปฏิบัติงานในการสอน และ 3. นายจ้างควรจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและใช้ประโยชน์จากการวิจัย โดยให้แรงจูงใจ เช่น เงินลงทุนหรือเงินกู้ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและการวิจัย รวมถึงการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทผู้ประกอบการ เพื่อให้ภาคธุรกิจมีกำลังพอที่จะจ่ายค่าจ้างที่เหมาะสมกับทักษะความสามารถของลูกจ้าง 
            ทั้งนี้ นางสาวผกามาศ  ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนของฝ่ายเจ้าภาพ โดยกล่าวถึงความประทับใจในศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศอาร์เมเนีย พร้อมเน้นย้ำว่าการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมบทบาทของเยาวชนในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านความคิดริเริ่มและแนวทางใหม่ ๆ พร้อมคาดหวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีในการรับมือกับความท้าทายด้านการศึกษาและการจ้างงานของเยาวชนคนรุ่นใหม่จากเวทีการประชุมระดับโลกของยุวสมาชิกรัฐสภาในครั้งนี้


สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สนง.สผ. ข้อมูล/ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ