18 ก.ย. 67 - ประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ สผ. รับเรื่องร้องเรียนจากพี่สาวนายวันเฉลิม นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกคุกคามและขึ้นบัญชีดำเป็นภัยต่อรัฐ หลังออกตามหาและทวงความยุติธรรมให้น้องชาย

image

           นายรังสิมันต์ โรม ประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร รับการยื่นหนังสือร้องเรียนจาก นางสาวสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ กรณีถูกคุกคามและถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพจากการตามหา นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ น้องชายที่หายตัวไป เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ในขณะลี้ภัยทางการเมืองไปอาศัยอยู่ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
          ผู้ร้องเรียน ระบุว่า ถูกติดตามคุกคามข่มขู่และถูกรัฐขึ้นบัญชีดำว่าเป็นภัยความมั่นคง ทั้งที่เป็นคนธรรมดาและออกตามหาน้องชาย ซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองในประเทศไทย และลี้ภัยไปอาศัยอยู่ที่กรุงพนมเปญ หลังการรัฐประหารในปี 2557 ผู้ร้องเรียนไม่ได้เป็นนักกิจกรรมมาก่อน แต่เมื่อน้องชายหายไปจึงออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรม โดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ต้องถูกคุกคาม เคยถูกตำรวจ 30-40 นาย ปิดล้อมกักขังหน่วงเหนี่ยว และเมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันผู้สูญหายสากล มีคำสั่งไม่ให้นำรูป นายวันเฉลิม มาจัดแสดงในนิทรรศการ ตลอดจนห้ามตนทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งการขึ้นเวทีและการเปิดตัวหนังสือ แต่บุคคลสูญหายคนอื่น ๆ สามารถกระทำได้
          ขณะที่นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะนักสิทธิมนุษยชนมักถูกติดตามคุกคามเป็นปกติ แต่กรณีของนางสาวสิตานันนั้น เป็นผู้เสียหาย มีการออกมาดำเนินการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งจะต้องทำให้บุคคลเหล่านี้ปลอดภัย ทั้งนี้ การยื่นหนังสือในครั้งนี้ เป็นการเรียกร้องความปลอดภัยของผู้ออกมาเคลื่อนไหวไม่ให้เกิดการบังคับให้สูญหายและจะต้องไม่ถูกรัฐขึ้นบัญชีดำ
         ด้าน นายรังสิมันต์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพ เป็นหัวใจสำคัญของการปกครอง และการทำให้บุคคลคนหนึ่งเป็นภัยต่อรัฐ กรณีนี้เป็นเรื่องใหญ่ เหมือนยังอยู่ในสมัยรัฐบาลทหาร โดยหากพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความกระจ่างให้เกิดขึ้นกับบุคคลสูญหาย ซึ่งครอบคลุมทั้งกรณีที่เกิดขึ้นแล้วและป้องกันการเกิดขึ้นในอนาคต โดยวิธีการป้องกันการอุ้มหายและการซ้อมทรมานที่ดีที่สุด คือ การทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ทั้งนี้ จะนำเรื่องดังกล่าวบรรจุเข้าระเบียบวาระเพื่อพิจารณาว่าคณะกรรมาธิการฯ จะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากที่สุด

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ