18 ก.ย.67 - กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ฯ สผ. วาง 6 กลไกคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิ์ทางวัฒนธรรม เตรียมพร้อมเสนอสภาฯ เชื่อ สภาฯ จะให้ความเห็นชอบกับการเปลี่ยนพื้นที่ความเห็นต่าง เป็นพื้นที่สานสัมพันธ์พลังสังคมพหุวัฒนธรรม

image

           นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ ร่วมแถลงข่าวถึงผลการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ซึ่ง กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการยกร่าง พ.ร.บ.ขึ้นใหม่ทั้งฉบับเป็นครั้งแรก โดยมีเจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมาย "คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิ์ทางวัฒนธรรม" เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์มีอัตลักษณ์และการสั่งสมทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิตภูมิปัญญา เพื่อคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ให้สามารถดำรงวิถีชีวิตของตนได้อย่างมีศักด์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นวาระที่สำคัญของประเทศที่ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน ถือเป็นความก้าวหน้าของประเทศที่จะก้าวสู่สังคมพหุวัฒนธรรมที่โอบรับคนทุกกลุ่มวัฒนธรรมไว้อย่างเสมอกัน
          สำหรับในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ของ กมธ.ได้นําเนื้อหาจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับต่าง ๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการมาบัญญัติรวมไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับของคณะรัฐมนตรี ซึ่งใช้เป็นหลักในการพิจารณา พร้อมทั้งได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีสาระสําคัญ ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 หลักพื้นฐานแห่งสิทธิและการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธ์ (หมวด 1) มีบทบัญญัติรับรองให้กลุ่มชาติพันธ์มีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วน อาทิ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยต้องไม่เลือกปฏิบัติ / ส่วนที่ 2 กลไกการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กำหนดให้มีกลไกระดับนโยบายและกลไกระดับปฏิบัติการ ทำหน้าที่ในการจัดทำข้อมูล กำหนดนโยบายและแก้ปัญหาด้านชาติพันธุ์ /ส่วนที่ 3 การจัดตั้งสมาคมชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย เป็นกลไกสร้างการมีส่วนร่วมและเสนอนโยบายมาตรการคุ้มครอง/ ส่วนที่ 4 การจัดทำฐานข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อประกอบการกำหนดนโยบายและการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในการรับรองสถานะบุคคล / ส่วนที่ 5 การจัดตั้งเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในการเข้าถึงทรัพยากร และส่วนที่ 6 บทกำหนดโทษต่อผู้ละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งนี้ กมธ. มีเป้าหมายสำคัญในการเปลี่ยนพื้นที่ความเห็นต่างเป็นพื้นที่สร้างความสัมพันธ์ สานสัมพันธ์พลังสังคมพหุวัฒนธรรมตามหลักสากลเป็นสำคัญ โดย กมธ.จะนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรให้เร็วที่สุด พร้อมเชื่อมั่นว่า สภาผู้แทนราษฎรจะให้ความเห็นชอบต่อการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ