13 ก.ย. 67 - สว.นันทนา แนะรัฐบาลยกปัญหาการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ ห่วงล้าหลังประเทศในภูมิภาค ชี้นำพาสู่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เป็นทางรอดของประเทศ 

image

          นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายต่อนโยบายรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวิตร นายกรัฐมนตรี ว่า แม้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 10 ข้อ จะไม่มีเรื่องของการศึกษาเลย แต่ขอชื่นชมที่ยังมีถ้อยคำที่ใส่ไว้ในนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น เน้นทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ส่งเสริมการปลดล็อคศักยภาพ เฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกจากระบบ ซึ่งถ้อยคำเหล่านี้จะมีความหมาย หากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้านการศึกษาเข้าใจความสำคัญของการศึกษาอย่างลึกซึ้ง
          นางสาวนันทนา ตั้งคำถามว่าเหตุใดบริษัทชั้นนำที่ผลิตสินค้าสำหรับโลกแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็น Tesla Intel Microsoft Binance หรือ Google ตัดสินใจลงทุนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม แทนที่จะเป็นประเทศไทย คำตอบซ่อนอยู่ในรายงานความสามารถในการจัดอันดับการแข่งขันของสถาบันจัดอันดับนานาชาติ (IMD) เรื่อง World Competitive Ranking ซึ่งเป็นดัชนีวัดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ปรากฏว่าจุดอ่อนสำคัญของประเทศไทย คือ เรื่องประสิทธิภาพของคนหรือแรงงาน นั่นมาจากคุณภาพการศึกษาของไทย ขณะนี้การศึกษาของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 54 จาก 67 ประเทศตามที่ IMD สำรวจ และหากย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มสำรวจในปี 1989 การศึกษาก็ยังเป็นจุดอ่อนที่สุดของประเทศไทยตลอดมา ตัวอย่างการประเมินผลนักเรียนระหว่างประเทศ (PISA) ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เด็กไทยตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พูดถึงปัญหานี้ในการแถลงนโยบายเมื่อวานนี้ (12 ก.ย. 67) เช่นเดียวกับทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ โดยในปี 2023 ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 9 ใน 10 ประเทศของอาเซียน ขณะที่ภาคปฏิบัติ ผลการสำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยที่ทำโดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (JETRO) ทุกปีก็ระบุถึงปัญหาคุณภาพแรงงานไทย เช่นเดียวกับบริษัทอเมริกัน ยุโรป และออสเตรเลียในประเทศไทยที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยนั้น มีสถาบันการศึกษาชั้นสูงกว่า 300 สถาบัน แต่เอกชนญี่ปุ่นกลับรวมตัวกันตั้งสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (Thai-Nichi Institute of Technology) เพราะไม่หวังพึ่งสถาบันการศึกษาไทย เนื่องจากพบว่าบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยของประเทศไทยยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเอกชนญี่ปุ่น อีกทั้งปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัย อันดับ 1 ของประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 600 กว่าใน World University Ranking ขณะที่สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 19 และมหาวิทยาลัยของมาเลเซีย 5 แห่ง อินโดนีเซีย 1 แห่ง ก็อยู่ในอันดับที่ดีกว่า ซึ่งปัญหานี้ทราบมาทุกปี แต่ก็ยังไม่มีรัฐบาลใดจะแก้ไขอย่างจริงจัง
          นางสาวนันทนา ให้ข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ต้องไม่ปล่อยให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการแก้ไขกันเองอย่างที่ผ่านมา ซึ่งการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่มาก เกี่ยวข้องกับทุกคน เป็นอนาคตของชาติ และเป็นโอกาสที่จะยกระดับการอยู่ดีกินดีของประชาชน ดังนั้น การดำเนินการจะต้องทำแบบบูรณาการ ต้องวางทิศทาง แก้กฎหมาย จัดระบบงบประมาณ บุคลากร การทำงานร่วมกันของภาครัฐกับเอกชน รวมทั้งการปลูกฝังค่านิยมใหม่ ๆ ตลอดจนเพื่อเป็นการส่งสัญญาณไปยังภาคส่วนต่าง ๆรวมทั้งนักลงทุนต่างประเทศ จึงต้องการให้นายกรัฐมนตรีผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ โดยตั้งคณะกรรมการระดับสูงว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาไทย โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ศึกษาบทเรียนจากประเทศในภูมิภาค อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่ใช้การศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศทั้งสิ้น โดยประเทศเหล่านี้มีลักษณะร่วมกัน คือ มีทรัพยากรธรรมชาติที่จำกัด จึงหันไปพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้เป็นหนทางในการพัฒนาแทน และในขณะนี้เวียดนามกำลังทำสิ่งนี้และได้ผลดีมาก ระบบการศึกษาของเวียดนามมีมาตรฐานสูงกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เวียดนามจึงกลายเป็นปลายทางของนักลงทุนจากทั่วโลก หากนายกรัฐมนตรีต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ต้องเริ่มต้นที่การศึกษา พัฒนาคุณภาพของคนให้มีศักยภาพสูง แข่งขันกับทั่วโลกได้ ด้วยการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจะเป็นทางรอดให้กับประเทศ

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ