13 ก.ย. 67 - สส.ภคมน พรรคประชาชน มองนโยบายโครงการแลนด์บริดจ์ไม่คุ้มค่าการลงทุน หวั่นทำลายธรรมชาติ เอื้อนายทุนครอบครองที่ดิน แนะรัฐปลดล็อคศักยภาพภาคใต้โดยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง แนะสร้างระบบชลประทานหนุนภาคการเกษตร  

image

            นางสาวภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายต่อการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยกล่าวถึงนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor : SEC) ด้วยโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ ว่าอาจจะเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า เนื่องจากไม่ได้เป็นการขนส่งสินค้าทางเรือแบบรวดเดียว แต่จำเป็นต้องขนถ่ายสินค้าจากเรือไปสู่ระบบราง หรือรถบรรทุก เพื่อไปสู่ท่าเรืออีกฝั่งหนึ่ง เมื่อคำนวณระยะเวลาแล้วต้องใช้เวลารวม 3-4 วัน ขณะที่การขนส่งสินค้าผ่านทางช่องแคบมะละกานั้น เป็นการขนส่งแบบรวดเดียวจบ ดังนั้นมองว่านักลงทุนอาจไม่ต้องการเสี่ยงในการลงทุนในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ ขณะเดียวกันที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาความคุ้มค่าของโครงการแต่ท้ายที่สุดไม่สามารถตอบข้อสงสัยเรื่องความคุ้มค่าได้

            นางสาวภคมน กล่าวต่อไปว่าความเห็นของตนเอง ไม่ได้ต้องการจะขัดขวางการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากตนเองเติบโตมาในภาคใต้เช่นกัน ย่อมทราบดีว่าหากรัฐบาลลงทุนในโครงการดังกล่าวจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่ของโครงการ อาทิ เกาะพยาม จังหวัดระนอง และป่าต้นน้ำในพื้นที่อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร หากมีโครงการแลนบริดจ์ ย่อมกระทบต่อสถานที่ท่องเที่ยวและธรรมชาติในพื้นที่ นอกจากนี้การที่รัฐบาลยังไม่มีคำตอบ และแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะทำให้ จังหวัดระนอง เสียโอกาสในการพัฒนาจังหวัด และยกระดับเศรษฐกิจ เนื่องจากทราบว่าตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด ระบุถึงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกเอาไว้ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากตกเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการ นอกจากนี้หากรัฐบาลดำเนินโครงการดังกล่าว จะทำให้พื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ตกเป็นพื้นที่รองรับกากของเสียจากกากอุตสาหกรรม และถูกกฎหมายพิเศษ SEC เขาครอบคลุม ส่งผลต่อปัญหาการครอบครองที่ดินจากนายทุนและชาวต่างชาติ ซึ่งตนเองมองไม่เห็นประโยชน์ที่เกิดกับประชาชน และโครงการดังกล่าวอาจซ้ำรอยการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ในสมัยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

            นางสาวภคมน กล่าวเพิ่มเติมว่าหากรัฐบาลต้องการปลดล็อคศักยภาพพื้นที่ภาคใต้ ควรลงทุนด้านการเกษตร และดำเนินการบนพื้นฐานทางวัฒนธรรม นำประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่จำเป็นต้องคิดโครงการยิ่งใหญ่แต่ไม่สามารถทำได้จริง สิ่งที่ชาวภาคใต้ต้องการคือการมีระบบชลประทานที่เข้าถึงพื้นที่ทำการเกษตร และการต่อยอด สร้างมูลค่าจากปาล์มและยางพารา 

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ