19 ก.ย. 67 – หัวหน้าพรรคประชาชน ตั้งกระทู้สดถามรัฐบาลถึงมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยหลังน้ำลด พร้อมแนะมาตรการเชิงรุก ปรับปรุงระบบเตือนภัย รับมือสถานการณ์ได้ทันท่วงที ด้าน รมช.มหาดไทย ย้ำรัฐบาลเร่งเยียวยาประชาชนเร็วที่สุด เดินหน้าระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน คาดพร้อมใช้กลางปี 2568

image

            นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.)แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาถึงนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติว่า ตนขอชื่นชมที่นายกรัฐมนตรีตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) เพื่อความรวดเร็วในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอุทกภัย แต่ตนมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน โดยในส่วนของมาตรการลดน้ำ-ค่าไฟฟ้า ที่กำหนดให้ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟของเดือน ก.ย. และเดือน ต.ค. รัฐบาลจะลดค่าน้ำ ค่าไฟให้ 30% นั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะขยายกรอบการช่วยเหลือดังกล่าวออกไปอีก ขณะที่การจ่ายเงินชดเชยเยียวยาสำหรับที่พักอาศัยที่ถูกน้ำท่วมที่รัฐจะช่วยเยียวยาสูงสุดถึง 230,000 บาทกรณีที่บ้านพังเสียหาย 70% แต่หากบ้านถูกน้ำท่วม 7-30 วัน จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท และหากท่วม 60 วันขึ้นไป จะได้รับเงินเยียวยา 9,000 บาท กรอบดำเนินการภายใน 90 วันนั้น ตนมองว่าหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการช่วยเหลือตามมาตรการดังกล่าว มีความยุ่งยากซับซ้อน ทำให้ความช่วยเหลือล่าช้า จึงเสนอให้จ่ายเงินให้กับบ้านที่เสียหายขั้นต่ำหลังละ 10,000 บาท แล้วค่อยให้เจ้าหน้าที่เข้าสำรวจความเสียหายและจ่ายเงินชดเชยตามจริงในภายหลัง นอกจากนี้ รัฐบาลสามารถพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจ่ายเงินเยียวยาแก่ประชาชนได้ โดยอาศัยแผนที่น้ำท่วมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) : GISTDA มาซ้อนทับกับข้อมูล GEOCODING คือการแปลงพิกัดจาก GPS เป็นที่อยู่จริงซึ่งจะทำให้ทราบว่าใครเป็นเจ้าบ้าน และยังสามารถเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชันทางรัฐเพื่อใช้ในการรับเงินเยียวยาชดเชยได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
           นายณัฐพงษ์ ยังตั้งคำถามถึงมาตรการระยะกลางและระยะยาวในการลดความเสี่ยงป้องกันความสูญเสียจากเหตุภัยพิบัติ ว่ารัฐบาลมีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดปริมาณน้ำฝน น้ำป่า อย่างไร รวมถึงปริมาณการปล่อยน้ำจากต่างประเทศ รัฐบาลได้วางแนวทางในการเจรจาบูรณาการน้ำร่วมกันหรือไม่ และการเปิดเผยข้อมูล GEOCODING ที่หลายประเทศเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้เปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากล รวมถึง Cell Brosdcast ระบบแจ้งเตือนภัยจะพร้อมใช้เมื่อใด ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ลดความเสี่ยง ความสูญเสีย ระบุพื้นที่เสี่ยงภัยได้ตรงจุด ให้ประชาชนเตรียมตัวทันสถานการณ์
            ด้านนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ตอบกระทู้แทนชี้แจงว่า รัฐบาลพร้อมปรับมาตรการตามสถานการณ์ ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะแบ่งเบาภาระประชาชน ส่วนมาตรการการเยียวยาที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหายนั้น เป็นการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบในช่วงฤดูฝน ประจำปี 2567 ย้ำว่ารัฐบาลเร่งดำเนินการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาอย่างเร็วที่สุด แม้กำหนดกรอบเวลาการเยียวยาไม่เกิน 90 วัน แต่เวลาดังกล่าวเป็นเพียงกรอบเวลาทางราชการ ในทางปฏิบัติประชาชนจะได้รับการเยียวยาอย่างเร็วที่สุด ส่วนแอปพลิเคชันทางรัฐ ไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ในการรับเงินตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเท่านั้น แต่เพื่อเป็นข้อมูลในการช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อให้เป็นแอปพลิเคชันที่มีฐานข้อมูลประชากรครบถ้วนร้อบเปอร์เซ็น ขณะที่มาตรการพักชำระหนี้ มีหลายมาตรการหลายกระทรวงที่ออกมาเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว การสนับสนุนพันธุ์พืช ทั้งพืชไร่ พืชสวน ส่วนการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัย รัฐบาลได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ยกตัวอย่างการร่วมประชุมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีเครื่องมือครบครัน ทำให้มีสถานีวัดปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีอุปสรรคการเข้าถึงข้อมูล แม้หน่วยงานจะมีเครื่องมือในการแจ้งเตือนเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นส่วนที่รัฐบาลต้องเร่งทำงานหาแนวทางแก้ปัญหาพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน Cell Broadcast Service ยืนยันว่าจะเดินหน้าทำระบบแจ้งเตือนภัยให้สำเร็จ คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้ในช่วงกลางปี 2568 แม้มองว่าอาจช้าไป แต่เป็นไปตามกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ส่วนระบบ sms แจ้งเตือนสภาพอากาศ พายุฝนฟ้าคะนอง สามารถนำมาใช้แจ้งเป็นข้อมูลแก่ประชาชนได้เลย เพื่อให้รับทราบข่าวสารอย่างทั่วถึง และหวังว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันจะทำให้ระบบการแจ้งเตือนภัยประสบความสำเร็จ มีประสิทธิภาพ

อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ