8 ก.ย. 67 - สส.สฤษฏ์พงษ์ เสนอร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยค่าบริการพิเศษ เพื่อวางหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ใช้บังคับระหว่างผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และลูกจ้างอย่างเป็นธรรม โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับฟังความเห็นประชาชน ทางเว็บไซต์รัฐสภา ถึงวันที่ 6 ต.ค. นี้

image

          นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย กับคณะ เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยค่าบริการพิเศษ พ.ศ. .... โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดรับฟังความเห็นประชาชนไปจนถึงวันที่ 6 ตุลาคม นี้ ทางเว็บไซต์รัฐสภา www.parliament.go.th เข้าไปที่หัวข้อ การรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ

          ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญในการเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยค่าบริการพิเศษ พ.ศ. .... เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการร้านค้ามีการเรียกเก็บค่าบริการพิเศษ เป็นจำนวนมาก แต่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าบริการพิเศษเพื่อใช้บังคับระหว่างผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และลูกจ้าง จึงส่งผลให้เกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการเนื่องจากไม่ทราบหลักเกณฑ์ที่แน่นอนว่าควรต้องคำนวณค่าบริการพิเศษอย่างไร รวมไปถึงเกิดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบระหว่างผู้ประกอบการและลูกจ้างเนื่องจากค่าบริการพิเศษที่เรียกเก็บนั้นกลับตกเป็นของผู้ประกอบการเพียงฝ่ายเดียว อีกทั้ง ไม่มีหน่วยงานราชการควบคุมตรวจสอบเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าบริการพิเศษ ดังนั้น เพื่อให้การเรียกเก็บค่าบริการพิเศษมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนและสามารถใช้บังคับระหว่างผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และลูกจ้างได้อย่างชัดเจนและเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

         สำหรับประเด็นที่เปิดรับฟังความเห็นประชาชน เช่น เห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้ผู้ประกอบการมีสิทธิกำหนดค่าบริการพิเศษไม่เกินร้อยละสิบของราคาสินค้าหรือค่าบริการ และมีหน้าที่แสดงข้อความที่บ่งบอกว่าร้านค้ามีการเรียกเก็บและอัตราที่เรียกเก็บ รวมถึงผู้ประกอบการต้องจัดทำเอกสารซึ่งระบุอัตราค่าบริการพิเศษ จำนวนลูกจ้างซึ่งทำงานภายในสถานประกอบการของตน และรายละเอียดการจัดสรรค่าบริการพิเศษที่ลูกจ้างแต่ละคนจะได้รับ เพื่อนำส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกหกเดือน / เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร กับการกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าบริการพิเศษตามการจัดสรรของผู้ประกอบการในสัดส่วนที่เท่ากัน และผู้ประกอบการไม่มีสิทธินำค่าบริการพิเศษมาจัดสรรให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณรวมกับเงินเดือนและสินน้ำใจ และการใช้สิทธิเรียกร้องค่าบริการพิเศษให้ดำเนินการภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ผู้ประกอบการปฏิเสธไม่ชำระหรือไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่ผู้ประกอบการได้รับค่าบริการพิเศษจากผู้บริโภค / เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร กับการกำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธการชำระค่าบริการพิเศษที่ไม่แสดงข้อความที่บ่งบอกว่ามีการเรียกเก็บ แต่กรณีที่ได้แสดงย่อมมีสิทธิเรียกเก็บ และหากผู้บริโภคปฏิเสธไม่ชำระโดยไม่มีเหตุทางกฎหมายที่จะอ้างได้ ผู้ประกอบการย่อมมีสิทธิร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ เป็นต้น

 

 

 

เรณู เขมาปัญญา ข่าว เรียบเรียง

https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=408

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ