16 ก.ย.67- รองนายกรัฐมนตรีฯ อนุทิน เผยเตรียมชงข้อเสนอมาตรการเยียวยาให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัย แย้มเบื้องต้น “ลดค่าไฟฟ้า-ค่าน้ำประปา” ก่อน ชี้ต้องบูรณาการหลายกระทรวงเพื่อวางแผนป้องกันน้ำท่วมระยะยาว ระบุปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยไม่มีงบป้องกันแล้ว มีแต่ภารกิจบรรเทาสาธารณภัย หลังกฎหมายให้อำนาจ สทนช. เป็นเจ้าภาพหลัก

image

        นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภาถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ว่า วันนี้การให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ทั้งอาหาร เวชภัณฑ์ และที่พักพิง ตนได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมเครื่องจักร พร้อมเข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะ จ.เชียงราย ที่บ้านเรือนมีดินโคลนเข้าไปกองภายในบ้านเรือน ดังนั้น เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเข้าไปจัดการขนย้ายก่อนที่ดินโคลนเหล่านี้จะแห้งและจะทำให้ขนย้ายยากลำบาก อย่างไรก็ตาม วันนี้ (16 ก.ย.67) เวลา 14.00 น. นางสาวแพทองธาร  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นัดประชุมหารือถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเตรียมตั้งศูนย์บัญชาการภัยพิบัติแห่งชาติ ส่วนข้อสั่งการที่ตนได้รับจากนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 12 ก.ย.67 คือ ให้เร่งสำรวจประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการสำรวจและจัดทำบัญชีเป็นรายครัวเรือนว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อให้ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล ซึ่งมีมาตรการและแนวทางอยู่แล้ว ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลการไฟฟ้าภูมิภาค และการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งนากยรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หาวิธีช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย อาทิ การยกเว้นค่าไฟฟ้า หรือค่าน้ำประปา เป็นต้น ซึ่งวันนี้จะมีการประชุมกันอย่างเร่งด่วน

        นายอนุทิน กล่าวถึงการวางแผนป้องอุทกภัยในระยะยาว ว่า ปัจจุบันอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอยู่ที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งบประมาณป้องกันน้ำท่วมนั้นไม่ได้อยู่ที่กระทรวงมหาดไทยแล้ว เพราะถูกตัดหมด ซึ่งในปี 2569 ต้องมีการหารือกันว่าจะให้งบป้องกับอุทกภัยอยู่ที่ สทนช.หรือไม่ ขณะที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภารกิจถูกเน้นหนักไปที่การบรรเทาแล้ว จะสร้างฝายสักแห่งหนึ่งยังไม่สามารถทำได้ ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้ต้องหารือกัน เพราะกฎหมายดังกล่าวมีการบังคับใช้ก่อนหน้ารัฐบาลชุดที่แล้ว และต้องดูว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบมีข้อจำกัดหรือยังขาดแคลนเรื่องใดบ้าง ส่วนกรณีหลายจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง อาทิ จ.หนองคาย และ จ.นครพนม ที่เสี่ยงน้ำท่วมนั้น หากผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย ก็จะมีเงินทดรองจ่ายในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนโดยที่ไม่ต้องรอการอนุมัติใด ๆ แต่หากวงเงินที่ได้รับยังไม่เพียงพอ ก็สามารถทำเรื่องขอขยายวงเงินได้ โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ก็ได้เสนอเรื่องเข้ามาแล้วก่อนหน้านี้ และนายกรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติเพิ่มเติม จังหวัดละ 100 ล้านบาทแล้ว นอกจากนี้ยังมีงบกลาง ที่นายกรัฐมนตรีสามารถนำมาใช้ในกรณีที่เกิดความจำเป็นเร่งด่วน ส่วนการให้ความช่วยเหลือเคลื่อนย้ายประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังศูนย์พักพิง ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการจัดเตรียมอาหาร เวชภัณฑ์ และเวรรักษาความปลอดภัย เพื่อให้มีการลาดตระเวรดูแลทรัพย์สินตามบ้านเรือนประชาชนด้วย หลังจากนี้ต้องมีการวางแผนรับเหตุอุทกภัยในอนาคตนั้น ทุกหน่วยงานต้องหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีก แต่ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเพราะบางเรื่องขึ้นอยู่กับกลไกระหว่างประเทศด้วย เช่น คณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีประเทศภาคีที่มีชายแดนติดกับแม่น้ำ ซึ่งจะต้องมีการหารือกันว่าจะมีการปล่อยระบายน้ำและรองรับน้ำกันอย่างไร ซึ่งหลายกระทรวงก็ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ