8 ก.ย. 67- สว.เกศกมล แนะตั้งองค์กรตรวจสอบสื่อออนไลน์ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมเนื้อหาให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ สกัดกั้นเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เปิดช่องกฎหมายจัดการสื่อที่มีเนื้อหาไม่ปลอดภัย พร้อมเสริมสร้างความรู้เท่าทันสื่อแก่ประชาชน

image

            นางสาวเกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงปัญหาสื่อสังคมออนไลน์ว่า ปัจจุบันไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดกำกับดูแลสื่อที่ครบวงจรอย่างจริงจัง เนื่องจากมีการแบ่งหน้าที่การทำงานตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน พร้อมยกตัวอย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) หน่วยงานที่ดูแลสื่อที่เป็นมาตรฐาน อาทิ โทรทัศน์ วิทยุ โทรคมนาคม แต่ไม่สามารถเข้ามาดูแลสื่อออนไลน์ได้ ขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีหน้าที่ดูแลสื่อออนไลน์ แต่ยังไม่สามารถเข้าไปดูแลควบคุมเนื้อหาได้ ขณะที่สื่อสังคมออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเป็นอย่างมากในปัจจุบัน อาทิ Facebook (เฟซบุ๊ก) Instagram (อินสตาแกรม) TikTok (ติ๊กต็อก) และ YouTube (ยูทูบ) ซึ่งไม่มีการควบคุมใดๆ โดยเฉพาะการเผยแพร่ข่าวลือหรือข่าวที่มีข้อเท็จจริงไม่ถูกต้อง มีการเผยแพร่ภาพ และเนื้อหาที่ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ หมิ่นประมาท ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ตนจึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยขอให้จัดตั้งองค์กรที่มีสมรรถนะสูงที่สามารถตรวจสอบสื่อที่มีเนื้อหาอันตราย เพื่อนำไปสู่การดำเนินการทางกฎหมาย ส่งเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่มสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เสริมสร้างความรู้เท่าทันสื่อ พร้อมการเฝ้าระวังสื่อโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้มีช่องทางการร้องเรียนหรือรายงานเพื่อดำเนินการกับสื่อที่ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมพัฒนาเครือข่ายเพื่อการเข้าถึง และนำไปใช้ประโยชน์เชิงสังคม

            นอกจากนี้ ควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการรายงานไปยังต้นทางเจ้าของแอปพลิเคชัน(Application) เนื่องจากสื่อที่สร้างปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นสื่อที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ เมื่อตรวจสอบพบการกระทำที่ไม่เหมาะสม กระบวนการยับยั้งจะทำได้ยาก จึงต้องมีข้อตกลงว่าหากมีการรายงานจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ สื่อนั้นต้องถูกถอดถอน และห้ามเผยแพร่ทันที และหากมีการโต้แย้งรายงาน ให้มีการพิสูจน์จนกว่าจะได้ข้อยุติจึงจะสามารถกลับมาเผยแพร่ได้อีกครั้ง

อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ