8 ก.ย.67 - สว.ประหยัด แนะรัฐวางแนวทางจัดการภัยพิบัติน้ำท่วมทั้งระบบอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการป้องกันและเยียวยาประชาชนให้ทั่วถึง พร้อมแก้ไขกฎหมายละเมิดสิทธิชุมชน ส่งเสริมชุมชนในเขตป่าทำการเกษตร ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืน

image

         นายประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากภัยพิบัติกรณีอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ พบว่า มีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนที่ตกชุกและต่อเนื่อง ประกอบกับพื้นที่ป่าลดลงจากการขยายตัวของเมือง แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ ความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการ ซึ่งรวมศูนย์อำนาจไว้ส่วนกลาง จึงทำให้เกิดปัญหาซ้ำชากและรุนแรงมากขึ้น ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ ดังนั้น ตนจึงมีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี โดยขอให้เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการภัยพิบัติทั้งระบบอย่างยั่งยืน ให้ครอบคลุมถึงการป้องกัน ช่วยเหลือ ฟื้นฟู
และเยียวยาประชาชนที่ประสบภัย โดยมุ่งเน้นที่การป้องกันภัยพิบัติเป็นสำคัญ ตลอดจนเร่งรัดให้หน่วยงานภาครัฐช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายด้านการเกษตร การประกอบอาชีพต่างๆ และการซ่อมแชมที่อยู่อาศัย และเร่งแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ขั้นตอน วิธีปฏิบัติในการจัดการภัยพิบัติ จากการรวมศูนย์อำนาจ โดยกระจายอำนาจการตัดสินใจและงบประมาณไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งแก้ไขหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2563 ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบรุนแรง ประกอบด้วย ด้านการดำรงชีพ ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นสิ่งของหรือจ่ายเป็นเงิน โดยคำนึงถึงสภาพและเหตุการณ์ตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการจัดซื้อวัสดุสิ่งของจากภาครัฐต่อไป ส่วนด้านการเกษตร ให้ดำเนินการช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติที่ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลแต่ละด้านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนเกิดภัยพิบัติแล้วเท่านั้น ซึ่งสมควรช่วยเหลือเกษตรกรทุกรายที่ประสบภัยพิบัติอันเป็นที่ประจักษ์
         นอกจากนี้ ควรเร่งแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ที่ละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่นแต่ดั้งเดิมในการจัดการทรัพยากรและจำกัดการพัฒนาของชุมชนที่อยู่ในเขตป่าและอุทยานแห่งชาติ ซึ่งอาศัยมาก่อนกฎหมายบังคับใช้ เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ และส่งเสริมให้ชุมชนในเขตป่าทำการเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าให้อุดมสมบูรณ์ ป้องกันน้ำไหลหลากและดินถล่ม รวมทั้งเร่งดำเนินการกระจายอำนาจและงบประมาณสนับสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ หรือองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานโดยไม่แสวงผลกำไร ให้มีส่วนร่วมในการป้องกัน แก้ไข และช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยพิบัติ เพื่อให้การช่วยเหลือฟื้นฟูภายหลังเหตุภัยพิบัติมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป


อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ