2 ก.ย. 67 –ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเสียงข้างมาก 118 เสียง ไม่เห็นชอบญัตติด่วนของ สว.นันทนา หลังเสนอขอให้ตรวจสอบจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปมอภิปรายในที่สาธารณะเกี่ยวกับผลการวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง

image

            การประชุมวุฒิสภาที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ได้เสนอเรื่องด่วนด้วยวาจา ตามข้อบังคับข้อ 40(1) เสนอญัตติขอให้มีการตรวจสอบจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยก่อนที่จะมีการชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลของการเสนอญัตติดังกล่าว ได้มีสมาชิกวุฒิสภาลุกขึ้นตั้งข้อสังเกตการเสนอญัตติดังกล่าว ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  
            ต่อมา นางสาวนันทนา ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลการเสนอญัตติดังกล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งได้อภิปรายในที่สาธารณะเกี่ยวกับผลการวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 67 โดยถ้อยคำที่กล่าวนั้นมีลักษณะส่อเสียด เย้ยหยันพรรคที่ถูกยุบไป พฤติกรรรมดังกล่าวถูกสังคมตั้งคำถามถึงจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านนั้นว่ามีความเหมาะสมต่อสถานะความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียงใด เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการตีความและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มีอำนาจในการตัดสิน ประเด็นสำคัญทางการเมืองอย่างกว้างขวาง จึงต้องปฏิบัติตนตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างเคร่งครัด ต้องวางตนเป็นกลาง ปราศจากอคติและเป็นตัวแทนของความยุติธรรมในการแสดงออกทุกกรณี มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งระบุไว้ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ข้อที่ 13 ระบุอย่างชัดเจนว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระและปราศจากอคติ ข้อที่ 17 กำหนดว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ทำสิ่งใดที่อาจเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ และตำแหน่งของตนเอง นอกจากนี้ในประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ข้อที่ 28 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าผู้พิพากษาไม่ควรแสดงปาฐกถา บรรยาย สอน หรือแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนในลักษณะที่อาจจะกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่และเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา ดังนั้น การกล่าวถ้อยคำในเวทีสาธารณะที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางตุลาการ จึงมิได้เป็นเพียงปัญหาของบุคคลเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาในระบบการบริหารจัดการอำนาจอธิปไตยและรัฐธรรมนูญ สร้างความขัดแย้งและข้อสงสัยในสังคมถึงความเป็นกลางและความยุติธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่ควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง และรวดเร็วเพื่อรักษาความเชื่อมั่นในระบบตุลาการ และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในสังคม และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงของอำนาจฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติที่ยั่งยืน และเพื่อความเป็นธรรมในระบบการเมืองไทย จึงขอให้ประธานวุฒิสภาอนุญาตให้เสนอญัตตินี้เพื่อให้มีการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภาเป็นการเร่งด่วน เพื่อลงมติและนำข้อเสนอส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการตรวจสอบจริยธรรมของตุลาการกันเองต่อไป
           ทั้งนี้ ภายหลังนางสาวนันทนาชี้แจงเสร็จเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากมีสมาชิกที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการอภิปรายญัตติดังกล่าว ประธานวุฒิสภาจึงได้ขอมติจากที่ประชุม  ท้ายที่สุดที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบ 118 เสียง เห็นชอบ 37 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง จึงถือว่าที่ประชุมลงมติไม่เห็นชอบให้พิจารณาญัตติตามที่นาวสาวนันทนา เสนอ ทำให้ญัตติดังกล่าวเป็นอันตกไป

อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ