12 มิ.ย.67 - คณะผู้แทนรัฐสภาไทย ร่วมการประชุม AIPA Caucus ครั้งที่ 15 ณ ประเทศบรูไน หารือแนวทางเสริมสร้างความพร้อมในการรับมือด้านไซเบอร์ของอาเซียนผ่านความร่วมมือของรัฐสภา : มุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ปลอดภัยและสดใสในอนาคต 

image

           ศาสตราจารย์พิเศษกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย นำคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ประกอบด้วย นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร และนางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุม AIPA Caucus ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 10 - 13 มิถุนายน 2567 ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม ภายใต้หัวข้อหลัก “การเสริมสร้างความพร้อมในการรับมือด้านไซเบอร์ของอาเซียนผ่านความร่วมมือของรัฐสภา : มุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ปลอดภัยและสดใสในอนาคต
         โดย วันแรกของการประชุม ทางคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะ H.E. Pehin Orang Kaya Seri Lela Dato Seri Setia Awang Haji Abdul Rahman bin Dato Setia Haji Mohamed Taib ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติบรูไนดารุสซาลาม พร้อมร่วมพิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ โดยมีระเบียบวาระการประชุมสำคัญ คือ การประชุมเต็มคณะ ช่วงที่ 1 ซึ่งเป็นวาระการนำเสนอรายงานการปฏิบัติตามข้อมติการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 44 ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับคะแนนสูงสุดในการปฏิบัติตามข้อมติฯ คือ ร้อยละ 86
          ด้าน นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนรัฐสภาไทย ได้นำเสนอข้อมูลด้านการเมือง เกี่ยวกับการรักษาความสงบและความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับแนวทางสันติวิธีผ่านการเจรจา การส่งเสริมความร่วมมือและความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อปัญหาชายแดน รวมทั้งสนับสนุนการสร้างสันติภาพของสตรีและเยาวชนต่อปัญหาความขัดแย้งทางชายแดนในภาคใต้ รวมถึงการต่อต้านการก่อการร้าย นอกจากนี้ ประเทศไทย อยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายเพื่อที่จะตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ รวมถึงร่วมมือกับอาเซียนในการทำสนธิสัญญาการส่งมอบผู้ต้องหา ในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำ เชื้อเพลิง และอาหาร (WEF) ในอาเซียน รวมทั้งยังร่วมมือกับพันธมิตรในภูมิภาคเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในลุ่มน้ำโขง โดยมีแผนยุทธศาสตร์สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และสนับสนุนนวัตกรรมในการเกษตร ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในเมียนมา รวมถึงให้ความช่วยเหลือทางมนุษย์แก่ผู้ลี้ภัยและการรักษาการรักษาผู้บาดเจ็บโดยไม่เลือกปฏิบัติ
          ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ ไทยให้ความสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และวิสัยทัศน์ของ APEC เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ไทยมีการใช้ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ไทยยังส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสีเขียวผ่านนโยบายที่สำคัญ อาทิ ร่างกฎหมายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลไทยได้กำหนดเกณฑ์สำหรับธนาคารและสนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าชายแดน เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากส่วนต่างการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ทั้งนี้ ในเรื่องการต่อต้านการทุจริต ไทยเน้นย้ำเรื่องความโปร่งใสและความรับผิดชอบผ่านการทำงานของคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติและมีมาตรการที่สำคัญคือมาตรการ
การประเมิณความเสี่ยงในการทุจริตและประเมิณความโปร่งใส
          ส่วนด้านสังคม ไทยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาการค้ายาเสพติดและการใช้ยาเสพติดในระดับภูมิภาค โดยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อให้บริการฟื้นฟูและโครงการพัฒนาทางเลือกในการสร้างงานและทักษะที่เกี่ยวข้อง ไทยมุ่งมั่นเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานสำหรับเศรษฐกิจเขียว ผ่านการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเกี่ยวกับปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศในการให้การฝึกอบรมทักษะที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงและผู้สูงอายุ รวมทั้งสนับสนุนการจ้างงานให้กับเยาวชน และแก้ปัญหาการว่างงานของเยาวชนโดยผ่านความสามารถทักษะของเยาวชนที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงส่งเสริมการทำงานช่วงปิดภาคเรียนของเยาวชนเพื่อให้ได้รับทั้งรายได้และประสบการณ์การทำงาน
            ด้านสตรี ไทยให้ความสำคัญกับความเสมอภาคเพศ ด้วยการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในการเมืองให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมบทบาทของสตรีผ่านการมอบรางวัลแก่ผู้นำสตรีที่โดดเด่น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จและเป็นแรงบันดาลใจให้กับสตรี ทั้งนี้ ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล ไทยส่งเสริมความสามารถของสตรีในด้านดิจิทัลผ่านโครงการต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค 
            สำหรับ ด้านยุวสมาชิกรัฐสภา ประเทศไทยสนับสนุนการเสริมความสามารถของเยาวชน โดยให้ความสำคัญในการลงทุนในทรัพยากรบุคคลด้านเยาวชน ผ่านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจอาเซียนที่มั่งคั่งและยั่งยืนในการลงทุนในอนาคต ไทยยังสนับสนุนการเข้าร่วมของเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงการต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค เพื่อสร้างภาวะผู้นำ พัฒนทักษะในการดำเนินชีวิต และการมีส่วนร่วมทางการเมือง 


กลุ่มงานสมัชชารัฐสภาอาเซียน สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สนง.สผ.ข้อมูล/ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ