24 มิ.ย.67- รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้รัฐบาลต้องเร่งพัฒนาคนให้มีทักษะรองรับอุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยเฉพาะการผลิตชิปสำหรับผลิตรถไฟฟ้าไฮเทคที่ต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผล

image

        ศ.ดร.สุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไฮเทคในประเทศไทย ว่า เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มักจะภูมิใจกับคำว่า “ดีทรอยต์ ออฟ เอเชีย” แม้กระทั่งในการจัดทำงบประมาณปี 2568 นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังยกอุตสาหกรรมยานยนต์ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ไทยกลับไม่ได้มีพัฒนานวัตกรรมทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมากไปกว่าการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวได้ติดหล่มอยู่กับการผลิตในเทคโนโลยีระดับกลางมานานแล้ว ทำให้มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้รับเลือกเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมระดับสูง และปัจจุบันมีสัดส่วนประกอบชิปที่ 13% ของโลก และเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของมาเลเซียที่มีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นที่ 7% โดยมีเป้าหมายไปถึงมูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2571

        รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยยังไม่ใช่เป้าหมายของการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคเหมือนที่มาเลเซียได้รับ แม้ว่าไทยมีพื้นฐานที่ดีในเรื่องของการผลิตรถยนต์ มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก การปรับฐานไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ในแบบอื่นในอนาคต ไม่ใช่เรื่องยาก แต่รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน หัวใจของรถยนต์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไฮเทคอื่นใดก็ตาม คือ ชิป ที่แม้ไทยจะตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอยู่ แต่ถ้าไทยสามารถปรับฐานการผลิตรถยนต์แบบสันดาปที่แข็งแกร่งมาเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้าไฮเทคที่ต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผล โอกาสในการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคอย่างการผลิต ชิป ก็เป็นไปได้ ดังนั้น ไทยต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับให้เพียงพอ โดยเฉพาะด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรที่รองรับงานระดับไฮเทคได้ ขณะที่ งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการของไทยปี 2567 ได้รับจัดสรรงบกว่า 3 แสนล้านบาท แต่กว่า 70 % คือ เงินเดือนของข้าราชการ ดังนั้น ไทย ต้องเริ่มจากการพัฒนาคนให้มีสร้างทักษะระดับสูง เพื่อไปสร้างอุตสาหกรรมมูลค่าสูงที่แข่งขันได้

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ