10 ต.ค. 67 - รมช.ศึกษาธิการ ชี้แจงกระทู้ถาม สส.พริษฐ์ พรรคประชาชน ปมการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่  ย้ำปรับใหม่ทั้งฉบับให้สอดคล้องสถานการณ์ เน้นสร้างทักษะผู้เรียนสามารถวิเคราะห์ แก้ปัญหาได้

image

           นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.)บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีถึงการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ ว่า ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จะมั่นใจได้อย่างไรว่าหลักสูตรการศึกษาที่เขียนไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว จะดีพอในการนำมาสอนเด็กและเยวชนให้มีทักษะเพื่อรับมือกับโลกในอีก 20 ปีข้างหน้าได้ โดยพบว่าทักษะของเด็กไทยในปัจจุบันไม่ว่าจะด้านการอ่านหรือวิทยาศาสตร์ตกลงอย่างต่อเนื่อง ต่ำสุดในรอบ 20 ปี สะท้อนว่าทักษะของเด็กไทยกำลังตามหลังโลก ในขณะที่เด็กไทยยังต้องใช้เวลาในห้องเรียนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้เห็นชัดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าเด็กไม่ขยันเรียน แต่อยู่ที่ผู้เกี่ยวข้องที่ไม่ขยันทบทวนและจัดทำหลักสูตรใหม่ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และหากไปดูประเทศที่มีการศึกษาสูงเป็นอันดับต้นๆ จะพบว่ามีการทบทวนการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่อย่างต่อเนื่องทุกๆ 5 หรือ 10 ปี ดังนั้น สิ่งจำเป็นต้องทำเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตทักษะของประเทศ คือการเร่งเปลี่ยนผ่านหลักสูตรสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ ไม่ใช่การปรับหลักสูตรเล็กๆ น้อยๆ เช่น เปลี่ยนตัวชี้วัดของบางวิชา  แต่ต้องเปลี่ยนเป้าหมายของหลักสูตรจากเดิมที่เน้นเรื่องการอัดฉีดเนื้อหามาเป็นเป้าหมายที่เน้นเรื่องการสร้างทักษะสมรรถนะ เช่น วิชาภาษาอังกฤษ ที่ไม่เน้นภาษาไวยากรณ์ แต่เน้นฝึกทักษะการใช้ภาษา วิชาประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เน้นการท่องจำเหตุการณ์ แต่เน้นทักษะการวิเคราะห์ชุดข้อมูลที่แตกต่างหลากหลาย หรือแม้กระทั่งวิชาลูกเสือ ที่ไม่ได้เน้นการตรวจระเบียบเครื่องแต่งกาย แต่ควรเน้นทักษะการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ เป็นต้น 
            นายพริษฐ์ ย้ำว่า การเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ ต้องเปลี่ยนโครงสร้างตารางเรียนจากเดิมที่เรียนมาก ได้น้อย เปลี่ยนเป็นโครงสร้างตารางเรียนที่ให้นักเรียนเรียนแบบพอดี แต่ได้มาก การผสมผสานสอนหลายวิชารวมกันในคาบเรียนเดียว เพื่อช่วยให้นักเรียนได้บูรณาการใช้ความรู้ในแต่ละศาสตร์มากขึ้น เกิดสมรรถนะติดตัว ให้เด็กนักเรียนได้เหลือเวลาพักผ่อนหรือใช้เวลาเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ จึงขอถามว่ารัฐบาลชุดนี้จะเลือกเดินหน้าอย่างไร ระหว่างการเดินหน้าจัดทำหลักสูตรฉบับใหม่ให้เสร็จภายในปี 2570 หรือเลือกจะปล่อยให้ยังต้องอยู่กับหลักสูตรเดิม จนครบรอบ 20 ปี
            ด้านนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ตอบกระทู้แทนชี้แจงว่า รัฐบาลได้เดินหน้าขับเคลื่อนการเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ ผ่านคณะทำงานที่ตั้งขึ้น คือ คณะกรรมการขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเป้าหมายของหลักสูตรฉบับใหม่ คือผู้เรียนสามารถวิเคราะห์ แยกแยะ รู้จักนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถแก้ปัญหาได้ ปรับกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดการเรียนรู้เชิงรุก  ปรับแนวคิดการวัดประเมินผล เน้นประเมินความสามารถของเด็กที่นำความรู้ไปพัฒนาในการใช้ชีวิต แก้ไขสถานการณ์ โดยจะมีการประเมินผลการเรียนตลอดระยะเวลาช่วงการเรียน เพื่อเติมในสิ่งที่ขาด แก้ปัญหาเด็กติด 0 พร้อมยืนยันว่า การขับเคลื่อนครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการปรับแก้หลักสูตร แต่จะเป็นฉบับที่มีความเปลี่ยนแปลง เพราะมองว่าการปรับเปลี่ยนทีละเล็กทีละน้อย อาจไม่เท่าทันโลกที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว  ย้ำว่ารัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการมีการขับเคลื่อนดำเนินงานเพื่อแก้หลักสูตรทั้งฉบับโดยเร็วให้สอดรับกับสถานการณ์  โดยวางกรอบระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 68 และคาดว่าจะสามารถนำหลักสูตรใหม่ไปใช้ได้ ในภาคเรียนที่ 1 ช่วงเดือนพฤษภาคม 68 ทั้งนี้ จะมีการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อรองรับกับหลักสูตรใหม่ที่จะนำมาใช้ในปีหน้า

อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ