10 ต.ค. 67 - ประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากภาคประชาชน เรียกร้องรัฐบาลทบทวนมติ ครม. เปิดรับลงทะเบียนแรงงานต่างชาติให้ถูกกฎหมาย ชี้อาจกระทบความมั่นคงของประเทศ 

image

            นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมกมธ.รับหนังสือจากภาคประชาชน ประกอบด้วย นายทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.) นายอัครวุธ ไกรศรีสมบัติ ประธานกลุ่มอาชีวะราชภักดี หรือ เต้ อาชีวะราชภักดี และนายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ขอให้กมธ.พิจารณากรณีมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา อนุมัติการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายให้เข้าในระบบ โดยนายอัครวุธ กล่าวว่าตนเองไม่เห็นด้วยกับมติครม.ดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายจำนวน 2.8 - 2.9 ล้านคน ที่มีอยู่ในประเทศไทยขณะนี้หลบหนีมาด้วยเหตุผลภัยการเมือง หรือการสู้รบ จริงหรือไม่ จึงเห็นควรให้ประเทศต้นทางเป็นผู้รับรองเสียก่อน ก่อนที่ประเทศไทยจะอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อให้สอดคล้องกับบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเคยลงนามไว้ ทั้งนี้ตนเองกังวลเรื่องภัยความมั่นคงซึ่งได้ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สวนหลวง ร. 9 เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา มีกลุ่มชาวเมียนมารวมตัวเป็นมาเฟียเรี่ยไรเงินเพื่อส่งให้ทหารชายแดนนำไปเคลื่อนไหวการเมืองภายในประเทศของตนเอง ซึ่งการใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการทำพฤติกรรมเช่นนี้ไม่เหมาะสม และจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

           นายทรงชัย กล่าวว่าการมีแรงงานต่างชาติจำนวนมากในประเทศไทย ที่ส่วนใหญ่เป็นการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจะทำให้ประเทศไทยเสื่อมเสียชื่อเสียง เกิดปัญหาอาชญากรรมภายในประเทศเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้กระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศ นอกจากนี้ยังทำให้กองทุนประกันสังคมขาดสภาพคล่องและเสี่ยงล้มละลาย เนื่องจากการดึงแรงงานต่างชาติเข้ารับสิทธิประกันสังคมทั้งที่หน่วยงานประกันสังคมยังไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะดูแลประชาชนคนไทยอย่างครอบคลุม

           ด้านนายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่ากมธ. จะนำเรื่องดังกล่าวบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมโดยเร็ว ทั้งนี้ยอมรับว่าประเด็นด้านความมั่นคงเป็นสิ่งที่ประมาทไม่ได้โดยประเทศไทยไม่เพียงแต่ได้รับผลกระทบจากแรงงานต่างชาติเท่านั้นแต่ยังได้รับผลกระทบจากประเทศมหาอำนาจ เช่นประเทศจีนที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยนำเอาเครื่องจักร เทคนิคต่างๆ และนวัตกรรมเข้ามาส่งผลให้คนไทยขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ สิ่งเหล่านี้ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจำเป็นต้องทบทวนมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองอาชีพสำคัญให้กับคนไทยได้รับสิทธิอย่างทั่วถึงโดยไม่เอื้อประโยชน์ให้ต่างชาติมากเกินไป

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว /เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ