21 ก.ย. 67 - สว.พละวัตร ขอรัฐบาลหนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถานประกอบการ เพื่อรักษาอัตราการจ้างงาน พร้อมกำกับดูแลราคาสินค้า ช่วยแก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจจากอุทกภัยในจังหวัดภาคเหนือ พร้อมวางแผนระยะยาวป้องกันเกิดเหตุซ้ำ

image

            นายพละวัต ตันศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ว่าเป็นอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 90,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันหลายจังหวัดเข้าสู่การทำความสะอาดบ้านเรือน สำรวจทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งจากการตั้งกระทู้ถามของ สว.ที่ผ่านมาถึงมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ไปยังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับการชี้แจงว่าเบื้องต้นมีมาตรการลดค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ประสบภัยแล้ว แต่จากที่ตนเองได้รับการร้องเรียนจากองค์กรภาคเอกชนจังหวัดเชียงราย อาทิ หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ชมรมธนาคารจังหวัด และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ มองว่าปัญหาอุทกภัยครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและภาคธุรกิจในพื้นที่อย่างรุนแรง โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งนี้จังหวัดเชียงรายมีระบบเศรษฐกิจพื้นฐาน ประกอบด้วยภาคเกษตรร้อยละ 30 และภาคบริการและการท่องเที่ยวร้อยละ 25 อุทกภัยส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเริ่มต้นธุรกิจของตนเองได้ทันฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะเริ่มต้นในเดือนตุลาคม และสิ้นสุดในเดือนเมษายน ดังนั้นรัฐบาลจึงควรพิจารณาเตรียมความพร้อมของระบบเศรษฐกิจโดยรวมให้แก่ผู้ประกอบการในจังหวัดที่ประสบปัญหาอุทกภัย อาทิ การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้แก่สถานประกอบการที่ได้รับความเสียหาย การรักษาอัตราการจ้างแรงงานในพื้นที่ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การกำกับดูแลราคาสินค้าเกษตรระยะสั้น เพื่อไม่ให้มีการปรับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค 

        นายพละวัต กล่าวต่อไปว่าเมื่อศึกษาการเกิดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงเวลาเดียวกันซ้ำซากเป็นประจำทุกปี ก่อให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก โดยปี พ.ศ. 2564 มีอุทกภัยจำนวน 72 ครั้ง ปี พ.ศ. 2565 มีอุทกภัยจำนวน 85 ครั้ง และปี พ.ศ. 2566 มีอุทกภัยจำนวน 82 ครั้ง ซึ่งแต่ละปีมีผู้ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน สร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ เหตุการณ์มหาอุทกภัย เมื่อปี พ.ศ. 2554 มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 1.43 ล้านล้านบาท จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาวางแผนระยะยาวสำหรับการป้องกันปัญหาอุทกภัย ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบ ประหยัดงบประมาณที่จะต้องเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบและการฟื้นฟูความเสียหายได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งจะเป็นการแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนอีกด้วย 

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง (แฟ้มภาพ)

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ