21 ก.ย. 67 - สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล พ.ศ. .... ฉบับประชาชน หวังยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพให้มีมาตรฐานเดียวกัน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

image

          สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล พ.ศ. .... เสนอโดยนายวรพงษ์ รวิรัฐ กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่เป็นร่างการเงิน โดยเห็นว่าการบริหารทรัพยากรบุคคลมีขึ้นในประเทศไทยมานานกว่า 80 ปี และปัจจุบันมีผู้ประกอบวิชาชีพนี้ในองค์กรเอกชนและภาคธุรกิจจำนวนมาก ทำหน้าที่ในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล มีความสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้มีศักยภาพสูง การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และระหว่างลูกจ้างด้วยกันเอง การประสานประโยชน์ การสร้างความร่วมมือและการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการและผลประโยชน์ของลูกจ้าง การวางแผนกำลังคน การสรรหาและคัดเลือกบุคลากร การฝึกอบรมหรือการพัฒนาบุคลากร การบริหารค่าจ้างค่าตอบแทน สวัสดิการและผลประโยชน์ให้แก่บุคลากรในองค์กร การควบคุมกำกับดูแลบุคลากรในองค์กรหรือการให้ข้อเสนอแนะแก่นายจ้างหรือผู้ประกอบกิจการ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับขององค์กรหรือตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากผู้ประกอบวิชาชีพไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ กฎหมาย คุณธรรม หรือไม่เป็นไปตามจริยธรรมที่เหมาะสม จะเป็นสาเหตุให้เกิดข้อพิพาทระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างขึ้นได้ ดังนั้น วิชาชีพดังกล่าวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลพนักงานในองค์กร เพื่อให้ได้รับสวัสดิการที่ดี ได้รับความเป็นธรรมในการประเมินเลื่อนตำแหน่งและค่าตอบแทน มีความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายในการควบคุมมาตรฐานและจรรยาบรรณสำหรับวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อเป็นการยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพให้มีมาตรฐานเดียวกันและได้รับการยอมรับในระดับสากล ตลอดจนเป็นการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้และมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ

          สำหรับประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น เช่น เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีสภาวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล รวมทั้งการกำหนดวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพฯ มีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร เห็นว่าการกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกสภาวิชาชีพฯ มีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพฯ รวมทั้งโครงสร้างและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสภาวิชาชีพฯ มีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการจรรยาบรรณ รวมทั้งคุณสมบัติและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการจรรยาบรรณมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร เห็นว่าการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้จะแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพบริหารทรัพยากรบุคคลได้หรือไม่ อย่างไร ตลอดจนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ

          ทั้งนี้ ประชาชนผู้สนใจสามารถร่วมแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ ผ่านเว็บไซต์ www.parliament.go.th หมวดการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 18 ตุลาคม นี้

 

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง

เว็บไซต์ www.parliament.go.th ข้อมูล / ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ