17 ก.ย. 67 – ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ด้าน ผอ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะฯ ยืนยันจุดยืนเป็นสื่อสาธารณะที่ประชาชนให้ความไว้วางใจ ยกกรณีปลาหมอคางดำได้ร่วมขับเคลื่อนกับภาคประชาชนจนกลายเป็นวาระแห่งชาติ

        ที่ประชุมวุฒิสภา ที่มี นายบุญส่ง  น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยมีวาระพิจารณารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 โดย รศ.ดร.วิลาสินี  พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวชี้แจงสาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ ว่า “ไทยพีบีเอส” เกิดขึ้นโดยมีจุดยืนเพื่อให้สังคมไทยมีหลักประกันว่าไม่ให้มีกลไกตลาดมาปิดกั้นการรับรู้เนื้อหาที่ไม่ดึงดูดมูลค่าทางการตลาด (Under Supply) และถูกนำเสนอน้อยจากสื่อที่พึ่งพิงโฆษณา อาทิ การศึกษา เด็กและเยาวชน การคุ้มครองผู้บริโภค วัฒนธรรมพื้นฐาน กลุ่มคนเปราะบาง และกลุ่มคนที่การตลาดทำให้คนไร้เสียงหรือตัวตน นอกจากนี้ ไทยพีบีเอส ยังให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าจะได้รับข่าวสารที่ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง ข่าวสารที่เจาะลึกและกล้าตรวจสอบแทนประชาชน โดยไม่ถูกแทรกแซงหรือถอนโฆษณา รวมทั้งช่วยเติมเต็มระบบนิเวศสื่อทั้งประเทศให้มีคุณภาพและขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ทั้งนี้ ไทยพีบีเอส ได้ส่งมอบคุณค่าต่อสาธารณะใน 5 ด้าน ได้แก่ การสื่อข่าวสารที่ประชาชนวางใจและพึ่งพิงได้ การสืบสานถักทอและหยั่งรากทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย การให้สารประโยชน์และความบันเทิงที่คุ้มค่า การส่งเสริมการเรียนรู้เป็น “โรงเรียนของสังคม” และการส่งเสริมสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งการมีส่วนร่วม ทั้งนี้จากการสำรวจที่ผ่านมา ประชาชนได้รับรู้ถึงการทำหน้าที่ของไทยพีบีเอสเป็นสื่อที่วางใจได้ โดยเฉพาะกรณีปลาหมอคางดำ ที่ไทยพีบีเอสได้นำเสนอมาตั้งแต่ปี 2560-ปัจจุบัน และได้รณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมสำรวจและปักหมุดจุดที่พบปลาหมอคางดำผ่านแอพพลิเคชัน ซึ่งทำให้ประชาชนได้ร่วมกันรายงานผลจนเห็นทิศทางของการแพร่ระบาด และมีการนำเสนอเรื่องนี้อย่างเข้มข้น โดยไทยพีบีเอสจะติดตามเรื่องนี้ต่อไปจนกว่าวิกฤตนี้จะมีทางออก เช่นเดียวกับกรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ไทยพีบีเอส ทุ่มเททำชุดข้อมูลและร่วมผลักดันหาทางออกร่วมกับประชาชนด้วย ซึ่งสถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ประมวลผลความคุ้มค่าทางสังคมว่าทุกการลงทุนในกรณีอุทยานฯ ทับลาน สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างคุ้มค่า

        นายชิบ  จิตนิยม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่มสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ทุกวันนี้ไทยพีบีเอสใช้งบประมาณเกินตัวหรือไม่ ตลอดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เพราะในปี 2567 ไทยพีบีเอสพยายามจัดทำงบให้สมดุลด้วยแต่ยังไม่สามารถทำได้ ขณะที่มีการขยายโครงสร้างองค์กรอย่างต่อเนื่องจำนวนมากซึ่งต้องพิจารณาว่าใช้งบประมาณบานปลายหรือไม่ นอกจากนี้ ไทยพีบีเอส ยังมีการผลิตละครหลายเรื่อง แต่ยังมีข้อสังเกตถึงคุณภาพการผลิต และมีจำนวนผู้ชมไม่มากนัก แม้ว่าไทยพีบีเอส มีการเชิญชวนผู้ผลิตรายการจำนวนมาก แต่สุดท้ายมักจะได้ผู้ผลิตรายการรายเดิม ส่วนงบบุคลากร ปี 2565 จำนวน 736 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 752 ล้านบาท ทั้งนี้ ตนชื่นชมการทำงานของไทยพีบีเอส ที่ทำให้มีการขับเคลื่อนหลายเรื่องที่เป็นวาระแห่งชาติ จึงขอฝากให้ใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่า

        นายเทวฤทธิ์  มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่มสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ไทยพีบีเอส ได้ทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์การเป็นสื่อสาธารณะ แต่ในระยะหลังการส่งเสริมนักข่าวพลเมือง เริ่มลดหายไป ขณะที่สภาผู้ฟังและผู้ชมรายการ ยังมีงบประมาณไม่มากนัก ไม่เกิน 20 ล้านบาท ทำให้ขับเคลื่อนงานได้ยาก ส่วนงานข่าวและบุคลากรของไทยพีบีเอส ที่ยังไม่เห็นด้านการพัฒนาด้านสวัสดิภาพและสวัสดิการ ที่ต้องมุ่งเน้นเรื่องการจ้างงานผู้ทำหน้าที่สื่อให้เกิดความเป็นธรรม ที่ผ่านมามีรูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคงหรือไม่ อาทิ การจ้างงานแบบรายปี ทำให้พนักงานไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ รวมถึงยังขาดการสนับสนุนให้เกิดการตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเจรจาต่อรองถึงทิศทางนโยบายองค์กร เป็นต้น

        ทั้งนี้ ภายหลังจาก สว. ได้อภิปรายเนื้อหารายงานฉบับนี้ และมีข้อเสนอแนะถึงไทยพีบีเอส อย่างกว้างขวางแล้ว ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ