26 ก.ค. 67 - สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดโครงการรัฐสภาสัญจรเพื่อเด็กและเยาวชน ประจำปี 67 ณ จังหวัดชุมพร มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมด้านประชาธิปไตย และความรู้บทบาทรัฐสภาแก่เยาวชน ส่งเสริมให้เยาวชนเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพ

image

           นายสุพล จุลใส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)  จังหวัดชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรัฐสภาสัญจรเพื่อเด็กและเยาวชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภาคใต้ ณ จังหวัดชุมพร โดยมี นายณรงค์ศักดิ์ เพชรเรืองสุด วิทยากรเชี่ยวชาญ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวรายงาน ในการนี้ นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ และว่าที่ ร.ต. มโนชญ์ นาคธรณิศวร์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุราษฎร์ธานี ชุมพร เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด ณ ห้องพุดพิชญา โรงแรมนานาบุรี จังหวัดชุมพร
           โดย นายสุพล ได้กล่าวเปิดงานใจความตอนหนึ่งว่า เยาวชนในวันนี้จะเป็นกำลังหลักที่สำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเรียนรู้เพิ่มเติมนอกเหนือในห้องเรียน โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของเยาวชนตามรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศให้มีความยั่งยืนต่อไป เยาวชนจะต้องมีความตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง มุ่งศึกษาเรียนรู้เต็มความสามารถ พัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อสร้างชีวิตที่ดีในอนาคต ประพฤติปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้สังคมมีความสงบสุข และเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และขอให้เยาวชนทุกคนตั้งใจเรียนรู้ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากวิทยากร แล้วนำไปเผยแพร่ให้แก่บุคคลใกล้ชิดให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
          สำหรับการจัดอบรมโครงการรัฐสภาสัญจรฯ มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้แก่เยาวชนกลุ่มเป้าหมายเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา เพื่อให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในกระบวนการทางประชาธิปไตยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และเสริมสร้างความรู้ในเรื่องสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ และความรับผิดชอบของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในการเป็น SMART Parliament ในด้านการให้บริการรูปแบบรัฐสภาดิจิทัล (Digital Parliament) ซึ่งการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหลายฝ่าย เริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ พลังของเยาวชน


อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง
สำนักประชาสัมพันธ์ สนง.สผ.ข้อมูล/ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ