16 ต.ค.67- ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาหลักการร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ 3 ฉบับ หวังให้มีกฎหมายเพื่อพัฒนาการขนส่งทางราง และยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ พร้อมกำหนดลงมติในการประชุมครั้งถัดไป

image

        ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์  เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขนส่งทางราง พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยพิจารณารวมกับร่างกฎหมายที่มีลักษณะทำนองเดียวกันอีก 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ที่เสนอโดยนางมนพร  เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดนครพนม พรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ และ ร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ที่เสนอโดยนายสุรเชษฐ์  ประวีณวงศ์วุฒิ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กับคณะ เป็นผู้เสนอ

        นายสุรพงษ์  ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ศ. .... ที่ ครม. เป็นผู้เสนอ ว่า รัฐบาลมียุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมและพัฒนาการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมอย่างไร้รอยต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางของประเทศให้มีโครงข่ายที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เชื่อมต่อระบบการขนส่งทางรางกับการขนส่งระบบอื่นและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดกิจการขนส่งทางรางขึ้นในระดับประเทศและในระดับภูมิภาคอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก และปลอดภัยในการเดินทาง โดยกฎหมายฉบับนี้จะช่วยยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการขนส่งทางราง มีการบริหารจัดการการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบสอดคล้องกับการพัฒนาการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ ให้เป็นโครงข่ายเดียวกันอย่างสมบูรณ์

        นางมนพร  เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะ สส.จังหวัดนครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ที่ตนและคณะ เป็นผู้เสนอ ว่า รัฐบาลมีนโบายและแผนงานด้านการพัฒนาระบบรางเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีจุดมุ่งหมายพัฒนาอุตสาหกรรมและพัฒนาการขนส่งและโลจิสติกส์เชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมอย่างไร้รอยต่อ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางให้มีโครงข่ายสมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ แม้ว่าจะมีการตรากฎหมายเพื่อให้มีกรมการขนส่งทางรางแล้ว แต่ยังไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่จะพัฒนาการขนส่งทางราง จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายที่กำกับดูแลการขนส่งทางราง ให้สามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการขนส่งทางราง การบริหารจัดการการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับการพัฒนารูปแบบอื่น ๆ ให้เป็นโครงข่ายเดียวกันอย่างสมบูรณ์ และต้องเร่งผลักดันกฎหมายการขนส่งทางรางฯ ให้ประกาศใช้โดยเร็ว เพื่อให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Projects) อย่างต่อเนื่องทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศอย่างไร้รอยต่อ

        ด้านนายสุรเชษฐ์  ประวีณวงศ์วุฒิ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงหลักการและเหตุผลร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ศ. .... ที่ตนและคณะ เป็นผู้เสนอ ว่า กรมการขนส่งทางราง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม แต่ปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่ใช้ควบคุมและกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางโดยตรง ทำให้การพัฒนาและบริหารจัดการยังชาดความเป็นระบบ ไม่สอดดล้องกับการขนส่งรูปแบบอื่น ดังนั้น ตนและคณะ จึงเสนอให้มีร่างกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางรางฯ เพื่อรองรับหน่วยงานที่ตั้งมาก่อนคือกรมการขนส่งทางราง โดยกำหนดโครงสร้างอำนาจของคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับกฎหมายการขนส่งรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางอากาศ สามารถบูรณาการการทำงานเพื่อพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศ

        ทั้งนี้ สส. ได้อภิปรายสนับสนุนหลักการของร่างกฎหมายการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ทั้ง 3 ฉบับ อย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการยกระดับมาตรฐานการขนส่งทางรางทั้งด้านความปลอดภัย เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ประชาชนได้รับบริการที่มีมาตรฐาน มีหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานและคุ้มครองสิทธิประชาชนผู้รับบริการทุกกลุ่ม เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างไรก็ตาม เมื่อ สส. อภิปรายเสร็จแล้ว และผู้เสนอร่างกฎหมายอภิปรายสรุปเป็นที่เรียบร้อย ประธานในที่ประชุม กำหนดให้ลงมติในการประชุมคราวถัดไป

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ