22 ต.ค.67- ประธาน กมธ. การพัฒนาการเมือง วุฒิสภา กังวลหากรัฐบาลปล่อยคดีสลายการชุมนุมตากใบหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ อาจเป็นเหตุให้ผู้ไม่ได้รับความยุติธรรมใช้ความรุนแรง หลังยังไม่ออก พ.ร.ก. ต่ออายุความ และไม่สามารถนำตัวจำเลยปรากฎตัวต่อหน้าศาลจังหวัดนราธิวาสได้

image

        นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กมธ. ที่มีวาระพิจารณาติดตามกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ ก่อนคดีหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.67 โดยเชิญหน่วยงานต่าง ๆ เข้าชี้แจง ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 3 วัน ซึ่งขณะนี้มีผู้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อแก้ไขให้คดีตากใบไม่มีอายุความ เพราะถือว่าเข้าเกณฑ์เพื่อประโยชน์ต่อความปลอดภัยของประเทศ อย่างไรก็ตาม ตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาระบุว่าไม่สามารถดำเนินการได้ทัน แต่ส่วนตัวเห็นว่า หากรัฐบาลมีการเตรียมตัวล่วงหน้าก็น่าจะทำได้ทัน เพราะ ครม. มีอำนาจในเรื่องนี้อยู่แล้ว ตนไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงของ ครม. ซึ่งหากสามารถการขยายอายุความจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถนำตัวผู้ถูกกล่าวหามาดำเนินคดีต่อหน้าศาลจังหวัดนราธิวาสได้

        นางอังคณา กล่าวว่า การออก พ.ร.ก. ดังกล่าวถือเป็นความหวังสุดท้ายของครอบครัวผู้เสียหายหากรัฐบาลสามารถขยายอายุความออกไป ก็จะทำให้ครอบครัวผู้เสียหายได้รับความยุติธรรม หากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลจังหวัดนราธิวาสในอีก 2 วันข้างหน้าก็จะถือว่าคดีหมดอายุความ เช่นเดียวกับกรณีโศกนาฏกรรมที่มีประชาชนเสียชีวิต 31 ราย ภายในบริเวณมัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี เมื่อปี 2547 ที่คดีความหมดอายุความไปแล้ว ส่วนคดีตากใบ มีผู้เสียชีวิต 85 ราย ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ส่วนตัวมองว่าหากกลไกในประเทศไม่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลระหว่างประเทศได้ และหากศาลระหว่างประเทศมีคำพิพากษาก็จะทำให้บุคคลเหล่านั้นไม่สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ เพราะจะถูกจับกุมไปดำเนินคดีและถูกลงโทษภายในกฎหมายระหว่างประเทศได้ นอกจากนี้ การเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ก็จะเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติร้ายแรง หรือการฆ่าบ้างเผ่าพันธุ์ ต่อไปก็อาจมีผู้ร้องไปยังศาลระหว่างประเทศได้ นอกจากนี้ คดีอาญาแผ่นดิน ไม่ได้เป็นหน้าที่ของประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหายในการฟ้องร้อง แต่เป็นหน้าที่ของอัยการที่ต้องเดินหน้าฟ้องร้องแทนประชาชน

        นางอังคณา กล่าวเพิ่มเติมว่า คดีคากใบทำให้เกิดการเปรียบเทียบได้ว่า เมื่อประชาชนกระทำผิดเจ้าหน้าที่รัฐก็มักสามารถถูกจับกุมตัวได้ แต่ในทางกลับกันเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดก็มักจะไม่สามารถจับกุมตัวผู้รับผิดชอบมาลงโทษได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เปราะบางและอ่อนไหว รวมทั้งยืดเยื้อมานานจนมีการใช้อาวุธและความรุนแรง ดังนั้น ตยเห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกฎหมาย โดยเฉพาะคดีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ต้องไม่มีอายุความ และต้องปรับปรุงนิยามคำว่า ผู้เสียหาย ให้กว้างขึ้น จากเดิมที่หมายถึงคู่สมรส สามีภรรยาที่สมรสตามกฎหมายไทยมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย แต่กรณีของผู้เสียหายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็ไม่มีสิทธิฟ้องร้องแทน ดังนั้น ควรแก้ไขนิยามคำว่าผู้เสียหายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการทรมานและการบังคับใช้บุคคลสูญหาย 

        นางอังคณา กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวกังวลว่าความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยมีอาจจะหมดไป และเมื่อคนรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมก็อาจจะทำให้คนบางกลุ่มอาจใช้ความรุนแรงในการต่อสู้เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม ซึ่ง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และทุกฝ่ายมีความตระหนักถึงเรื่องนี้ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่รัฐบาลปล่อยโอกาสในการพิสูจน์ความจริงเพราะไม่สามารถนำตัวจำเลยมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ คงคลีกเลี่ยงยากที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรงตามมา ที่สำคัญรัฐบาลต้องไม่สร้างวาทกรรมในการโยนความผิดให้กับผู้เสียหาย บางหน่วยงานระบุว่ากร๊ตากใบมีการจัดการเป็นขบวนการของคนกลุ่มหนึ่งให้เกิดการชุมนุม แต่สิ่งที่ กมธ. และนักสิทธิมนุษยชน ตั้งคำถาม คือ ใครเป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม 85 ราย เพราะไม่ว่าบุคคลเหล่านี้จะมาจากไหน หรือมีความคิดเห็นอย่างไร ก็ต้องไม่เสียชีวิตจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ