22 ต.ค.67- ประธานวุฒิสภา นำคณะผู้แทนไทยร่วมประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 149 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ ณ ศูนย์การประชุม CICG นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส พร้อมสานสัมพันธ์กับคณะผู้แทนรัฐสภามิตรประเทศ “มาลาวี-อินเดีย-เนปาล” หวังยกระดับความร่วมมือด้านนิติบัญญัติระหว่างประเทศ

image

        นายมงคล  สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา นำคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ประกอบด้วย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้แก่ นายชวภณ  วัธนเวคิน นายปริญญา  วงษ์เชิดขวัญ และนายวีระพันธ์  สุวรรณามัย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้แก่ นางสาวสรัสนันท์  อรรณนพพร นายกัณวีร์  สืบแสง นางสาวตวงทิพย์  จินตะเวช นายศรัณย์  ทิมสุวรรณ นายชัยวัฒน์  สถาวรวิจิตร และนายอัคร  ทองใจสด เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 149 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (The 149th IPU Assembly and related meetings) ระหว่างวันที่ 13-17 ต.ค.67 ณ ศูนย์การประชุม CICG นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

        นายมงคล  สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภาไทย กล่าวระหว่างการพบปะหารือทวิภาคี (Bilateral meeting) กับคณะผู้แทนรัฐสภามิตรประเทศ นำโดย Ms. Catherine Gotani Hara ประธานรัฐสภามาลาวี ว่า Ms. Catherine เป็นหนึ่งในผู้สมัครสตรีจากทวีปแอฟริกาที่มีความถึงพร้อมในด้านคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งประธานสหภาพรัฐสภาในการเลือกตั้งเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่ผ่านมา โดยการพบปะกันครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์ทวิภาคีโดยเฉพาะในด้านนิติบัญญัติให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น และการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาระหว่างกันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านการเกษตร และสาธารณสุขที่ฝ่ายมาลาวีสนใจจะเรียนรู้จากไทย ขณะที่ฝ่ายไทยแจ้งว่าแอฟริกาถือเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสำหรับไทยและกำลังมองไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาลู่ทางขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ในอนาคตต่อไป

        ประธานวุฒิสภาไทย กล่าวถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างไทยกับอินเดียให้กับคณะผู้แทนรัฐสภาอินเดีย นำโดย Mr. Om Birla ประธานโลกสภา (สภาผู้แทนราษฎรอินเดีย) ว่า ไทย และอิเดีย มีความร่วมมือในด้านการศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ การแพทย์แผนทางเลือก (อายุรเวท) โดยอินเดียถือเป็นดินแดนแห่งพุทธภูมิที่เชื่อมต่อพลังศรัทธาของชาวพุทธในภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ และขอเป็นตัวแทนของชาวไทยพุทธขอบคุณที่อินเดียได้ให้ความร่วมมือกับไทยในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระอัครสาวก มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทยให้ชาวไทยพุทธได้มีโอกาสสักการะสักแม้เพียงครั้งหนึ่งในชีวิต นับว่าชาวไทยและชาวอินเดียเป็นญาติมิตรที่มีความใกล้ชิดกันในทางจิตวิญญาณ ด้านฝ่ายอินเดีย ย้ำความสำคัญของไทยในฐานะหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญตามนโยบาย Act East Policy ของอินเดียในหลากหลายมิติ ทั้งการค้า การลงทุน ด้านการทหาร โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวเชิงแสวงบุญ รวมถึงโครงการ PRIDE ของรัฐสภาอินเดียที่เป็นโครงการฝึกอบรมเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในงานด้านนิติบัญญัติและประชาธิปไตยให้แก่สมาชิกรัฐสภาและเจ้าหน้าที่รัฐสภาจากมิตรประเทศ ทั้งนี้ ประธานโลกสภาได้ใช้โอกาสนี้เชิญให้ประธานวุฒิสภาเดินทางเยือนอินเดียในช่วงเวลาที่สะดวก ขณะที่ฝ่ายไทยได้ใช้โอกาสเชิญให้รัฐสภาอินเดียส่งผู้แทนเดินทางมาเข้าร่วมการประชุม Regional Conference for Parliaments of the Asia-Pacific Region on Global Health Security ซึ่งรัฐสภาไทยร่วมกับสหภาพรัฐสภาจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 2 - 3 ธ.ค.67 ณ กรุงเทพมหานคร

        ประธานวุฒิสภาไทย กล่าวย้ำถึงความใกล้ชิดระหว่างไทยกับเนปาลในหารือกับคณะผู้แทนรัฐสภาเนปาล นำโดย Mr. Narayan Prasad Dahal ประธานวุฒิสภาเนปาล ว่า สายสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเนปาลนั้นร้อยรัดความร่วมมือในทุกระดับ ทั้งด้านการลงทุน การศึกษา และด้านสาธารณสุข ด้านศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเหตุการณ์ภัยพิบัติ ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในระดับประชาชนต่อประชาชน ตลอดจนผ่านกลไกความร่วมมือทวิภาคีหลักได้แก่ Joint Committee ของทั้งสองฝ่าย โดยชาวเนปาลมีความประทับในไมตรีจิตที่ชาวไทยได้หยิบยื่นให้แก่แขกผู้มาเยือน ในโอกาสนี้ประธานวุฒิสภาเนปาลขอเชิญประธานวุฒิสภาของไทยเดินทางเยือนเนปาลในช่วงเวลาที่สะดวกสำหรับทั้งสองฝ่าย ขณะที่ฝ่ายไทยได้ใช้โอกาสเชิญให้รัฐสภาเนปาลส่งผู้แทนเดินทางมาเข้าร่วมการประชุม Regional Conference for Parliaments of the Asia-Pacific Region on Global Health Security ซึ่งรัฐสภาไทยร่วมกับสหภาพรัฐสภาจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 2 - 3 ธ.ค.67 ณ กรุงเทพมหานครด้วย

        สำหรับภาพรวมภารกิจของคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้เข้าร่วมการประชุมข้างเคียง (side event) ในระหว่างการประชุมสมัชชาวันที่สาม รวม 4 รายการ โดยนางสาวสรัสนันท์  อรรณณพพร และนางสาวตวงทิพย์  จินตะเวช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการด้านสาธารณสุข หัวข้อ “Can parliaments tip the balance for sexual and reproductive health and rights?” โดยที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลจากผู้แทนขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับอัตราประชากรที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ (unintended pregnancy) ทั่วโลกมีอยู่ถึง 120 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 60 ยุติการตั้งครรภ์ด้วยการทำแท้ง นอกจากนี้ ประชากร 4 คนในทุก ๆ 10 คน ไม่มีความรู้เรื่องเพศศึกษา ในการดังกล่าว คณะผู้นำการอภิปรายได้เสนอยุทธศาสตร์สำหรับการทำแท้งมี 3 ประการคือ 1. ป้องกัน (Prevent) 2. จำกัด (Restrict) และ 3. ห้ามกระทำ (Ban)

        ด้านนายปริญญา  วงษ์เชิดขวัญ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องสิทธิเด็ก หัวข้อ “Redoubling efforts to combat child labour and forced labour: What support can parliaments provide?” เวลา 14.00-16.00 น. โดยที่ประชุมได้อภิปรายถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขเกี่ยวกับแรงงานเด็ก การค้าเด็ก และแรงงานบังคับ ซึ่งล้วนเป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่ปรากฏอยู่ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก จากสถิติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)  ประชาชนจำนวน 27.6 ล้านคนเป็นแรงงานบังคับ โดยร้อยละ 39 ของจำนวนดังกล่าวเป็นผู้หญิงและเด็กหญิง และร้อยละ 12 เป็นเด็ก สิ่งนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายย่อยที่ 8.7 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นาง Linda Reynolds สมาชิกวุฒิสภาออสเตรเลีย หนึ่งในคณะผู้นำการอภิปรายได้นำเสนอปัญหา Orphanage Trafficking ในประเทศออสเตรเลียด้วย ซึ่งเป็นปัญหาในการที่พาเด็กออกไปจากครอบครัวเพื่อการนำไปแสวงหาผลกำไร จึงเห็นว่าการแก้ปัญหานั้นต้องแก้ที่รากหรือสาเหตุของปัญหาโดยการให้การศึกษา การให้คำปรึกษา และการออกกฎหมาย

        ส่วนนางสาวตวงทิพย์  จินตะเวช และนายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้เข้าร่วมการอภิปรายย่อย (Panel discussion) ในหัวข้อ Committees of the Future: The future of parliaments? ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้ความร่วมมือระหว่างสหภาพรัฐสภา และสมาคมรัฐสภาและสมาคมเลขาธิการรัฐสภา (ASGP) ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังประสบการณ์ของ Committees of the Future ของภาครัฐสภา จากประเทศต่าง ๆ ในเรื่องของกลไกรัฐสภาสําหรับธรรมาภิบาลการคาดการณ์ (Anticipatory Governance) ในบริบทของการประชุม Summit of the Future และข้อตกลง Pact of the Future ของสหประชาชาติ

        ด้านนายกัณวีร์  สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้เข้าร่วมการประชุมแบบเปิด (Open Session) ของคณะกรรมาธิการส่งเสริมการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หัวข้อ “ Armed conflict and disability: Enhancing parliamentary action to address disability during armed conflicts and their aftermath” โดยที่ประชุมได้อภิปรายแลกเปลี่ยนถึงแนวทางที่รัฐสภาสามารถมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและรับรองสิทธิของบุคคลที่มีความพิการในช่วงความขัดแย้งด้วยอาวุธและผลกระทบหลังจากนั้น รัฐสภามีบทบาทสำคัญในกระบวนการให้สัตยาบันหรือการเข้าเป็นภาคีที่ทำให้รัฐเข้าร่วมกับเครื่องมือทางกฎหมาย อาทิ อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล นอกจากนี้ สมาชิกรัฐสภายังสามารถจัดตั้งกลไกหรือโครงสร้างเฉพาะเพื่อเฝ้าติดตามการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของคนพิการ รวมถึงการออกกฎหมายและนโยบายที่ได้รับข้อมูลและปรับให้เหมาะสมซึ่งยอมรับสิทธิของผู้พิการในช่วงความขัดแย้งด้วยอาวุธและการให้การดูแลและฟื้นฟูสำหรับผู้รอดชีวิตจากอาวุธและครอบครัวของพวกเขา อีกทั้ง การดำเนินการของรัฐสภายังมีความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอสำหรับการศึกษาเรื่องความเสี่ยงและโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา   ข้อมูล/ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ