22 มิ.ย. 67 – สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.สหภาพแรงงาน พ.ศ. .... ผ่านทางเว็บไซต์รัฐสภา ให้สิทธิคนทำงานสามารถรวมตัวเจรจาต่อรองเพื่อความเป็นธรรม แก้ปัญหาถูกเอารัดเอาเปรียบ ส่งเสริมเกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ระหว่างคนทำงาน-ผู้จ้าง

image

            สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สหภาพแรงงาน พ.ศ. .... ซึ่งนายเซีย จำปาทอง กับคณะเป็นผู้เสนอ โดยเป็นร่างการเงิน  เนื่องจากพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติหลายประการไม่เหมาะสมกับสภาพการในปัจจุบันและไม่สอดคล้องกับหลักการที่เป็นมาตรฐานแรงงานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลายมาตรายังขัดกับหลักการในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 89 ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองและถูกกำหนดให้เป็นอนุสัญญาหลัก เป็นสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมอย่างจริงจัง จึงเป็นเหตุให้คนทำงานและผู้จ้างงานส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้จริง ภายใต้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ยังมีข้อจำกัดที่จะทำให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนทำงานและผู้จ้างงานได้ ดังจะเห็นว่ามีปัญหาข้อขัดแย้งและข้อพิพาทด้านแรงงานจำนวนมาก และหลายครั้งที่ความขัดแย้งและข้อพิพาทได้นำสู่การต่อสู้เผชิญหน้ากันอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายให้กับทั้งคนทำงาน ผู้จ้างงาน และประเทศชาติโดยรวม นอกจากนี้ สิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองร่วม ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย สิทธิดังกล่าวมีการรับรองไว้ในอนุสัญญาและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ ที่สำคัญคืออนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ประเทศไทยแม้รัฐธรรมนูญจะมีบทบาท ที่รับรองสิทธิในการรวมตัวกันของประชาชน แต่กฎหมายลำดับรองที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ล้วนยังมีสาระสำคัญที่ไม่สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาดังกล่าว กฎหมายครอบคลุมเฉพาะแรงงานในระบบกับพนักงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ยังมีคนทำงานอีกมากมายทั้งที่ถูกเรียกว่า แรงงานนอกระบบ ข้าราชการ ลูกจ้างรัฐที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายดังกล่าว เป็นเหตุให้คนทำงานในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมได้อย่างแท้จริง ทำให้คนทำงานต้องถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม มีค่าจ้างต่ำ สวัสดิการที่เลวร้าย ต้องทำงานหนักและยาวนานในแต่ละวัน และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้น เพื่อให้กฎหมายมีหลักการและสาระที่สอดรับกับสภาพแวดล้อมทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างมาก สอดคล้องกับมาตรฐานและหลักการสากลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการยอมรับของนานาอารยะประเทศ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่คนทำงาน และผู้จ้างงานสามารถทำงานร่วมกันด้วยความพอใจอย่างสันติสุข และต่างได้รับความเป็นธรรม นำสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และสร้างสังคมที่เป็นธรรม เสมอภาค จึงเห็นสมควรให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติสหภาพแรงงาน พ.ศ. .... ฉบับนี้ขึ้น

            สำหรับประเด็นเปิดรับฟังความเห็น อาทิ เห็นด้วยหรือไม่กับการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนานโยบายด้านแรงงานสัมพันธ์ เห็นด้วยหรือไม่กับการตั้งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้มีบทบาทเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาแรงงานไม่สามารถรวมตัวกันได้ เห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการกีดขวางการรวมตัว และเห็นว่าที่ผ่านมาระบบแรงงานสัมพันธ์และการรวมตัวของแรงงานในกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ มีปัญหาหรือไม่ อย่างไร การเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหา ได้หรือไม่ อย่างไร โดยประชาชนสามารถแสดงความเห็นได้ที่เว็บไซต์รัฐสภา www.parliament.go.th หมวดการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 19 ก.ค. 67

อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ