23 ก.ย. 67 - ประธานรัฐสภา นำบุคลากรวงงานรัฐสภา ประกาศเจตนารมณ์รัฐสภาสีเขียวมุ่งสู่การเป็น Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2032 ด้านรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง หวังรัฐสภาไทยเป็นรัฐสภา Net Zero แห่งที่สองของโลกรองจากสหราชอาณาจักร 

image

         นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานประกาศเจตนารมณ์รัฐสภาสีเขียวมุ่งสู่การเป็น Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2032 ร่วมกับ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารและบุคลากร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยมีตัวแทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมเป็นสักขีพยาน ทั้งนี้ มี นางจงเดือน สุทธิรัตน์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมสัมมนา ชั้น B1 อาคารรัฐสภา
          ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เรียกว่าภาวะโลกเดือด ส่งผลให้สภาพอากาศรุนแรง เช่น ภัยแล้ง พายุ น้ำท่วมบ่อยและมีความรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากภัยธรรมชาติปัจจุบันในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้พื้นที่เพาะปลูกลดลงและเสี่ยงต่อความขาดแคลนอาหารทั่วโลก หลายประเทศจึงหันมาให้ความสำคัญต่อปัญหานี้ โดยมีการดำเนินมาตรการและนโยบายต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบ โดยประเทศไทยให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกเดือดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในระดับนานาประเทศต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ โดยได้ประกาศเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065
            นอกจากนี้ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังได้มอบรางวัลให้แก่หน่วยงานในสังกัดรัฐสภาที่ส่งผลงานประกวด Infographic Innovation ภายใต้หัวข้อนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมรัฐสภาสู่ Net Zero โดยสำนักบริการทางการแพทย์ประจำรัฐสภา ได้รับรางวัลชนะเลิศ สำนักพัฒนาบุคลากร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 และสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2
          จากนั้น รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ รัฐสภามุ่งสู่การเป็น Net Zero ใจความสำคัญว่า ในส่วนของรัฐสภาไทย ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติผู้ออกกฎหมาย ควรเป็นต้นแบบในการนำร่องสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมกับลดระยะเวลาความสำเร็จให้เกิดขึ้นภายในปี ค.ศ. 2032 โดยเล็งเห็นว่าประเทศไทยควรมีความตระหนักและตื่นรู้ต่อสถานการณ์คาร์บอนเครดิต รัฐสภาไทยจึงต้องการริเริ่ม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 10 แผน ด้วยการลดคาร์บอนให้ได้ปีละ 14% ในระยะเวลา 8 ปี ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นรัฐสภาแห่งที่สองของโลกรองจากสหราชอาณาจักร ในการเป็นรัฐสภา Net Zero
          อย่างไรก็ตาม ภายในงานยังมีการปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อต่าง ๆ เช่น หัวข้อแผนแม่บทของรัฐสภาไทยในการมุ่งสู่ Net Zero ในปี ค.ศ. 2032 โดย นายก้องเกียรติ สุริเย กรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนไปสู่รัฐสภาสีเขียว หัวข้อ Net Zero รัฐสภาไทย กับการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย โดย นายวิชัย ทองแตง ประธานมูลนิธิหนึ่งน้ำใจ หัวข้อบทบาทและประสบการณ์ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในการเข้าสู่ Net Zero ของประเทศไทย โดย นายกานต์ รามอินทรา หัวหน้าทีมบูรณาการโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประเทศไทย พร้อมการเสวนาหัวข้อประโยชน์และผลกระทบของเศรษฐกิจไทยที่จะได้รับในการมุ่งสู่ Net Zero โดย นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ สมาชิกวุฒิสภา และนายพนาสันต์ สุจริตพานิช ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารงานกลาง บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ