20 ต.ค. 67 - คณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 149 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ย้ำไทยมุ่งส่งเสริมพัฒนาระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ สอดรับพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลก 

image

            คณะผู้แทนรัฐสภาไทย นำโดย นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วยผู้แทน ประกอบด้วย นายชวภณ วัธนเวคิน สมาชิกวุฒิสภา นายปริญญา วงษ์เชิดขวัญ สมาชิกวุฒิสภา นายวีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะที่ปรึกษาคณะผู้แทนรัฐสภาไทย นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นางสาวตวงทิพย์ จินตะเวช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 149 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (The 149th IPU Assembly and related meetings) ระหว่างวันที่ 13-17 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุม CICG นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส 
            โดยสรุปภารกิจของคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ในการประชุมวันที่สอง ดังนี้ คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 214 (The 214th Session of the Governing Council) ซึ่งมี Dr. Tulia Ackson ประธานสหภาพรัฐสภา และ Mr. Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมและเลขานุการการประชุมตามลำดับ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ตามระเบียบวาระการประชุม ได้แก่ รับรองรายงานการประชุมคณะมนตรีบริหารฯ ครั้งที่ 213 รับทราบรายงานการดำเนินงานของประธานสหภาพรัฐสภาในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และรับทราบรายงานด้านการเงินและการคลังของ IPU รวมถึงกรอบงบประมาณสำหรับปี 2568 จากคณะอนุกรรมาธิการด้านการเงินของสหภาพรัฐสภา    
            โอกาสนี้ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้กล่าวถ้อยแถลงภายใต้หัวข้อหลัก Harnessing science, technology and innovation (STI) for a more peaceful and sustainable future มีใจความสำคัญว่า ภายใต้แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมระยะ 5 ปี และพระราชบัญญัตอฝิ (พ.ร.บ.) การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 รวมถึงวิสัยทัศน์ Vision 2030 ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม(STI) ให้เป็นกุญแจดอกสำคัญในการพลิกโฉมหน้าของการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก พร้อมรองรับความท้าทายใหม่ในอนาคต ตลอดจนขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมสู่คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชายขอบ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางและมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางด้านทรัพยากรมนุษย์สมรรถนะสูงและศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2570 และที่ผ่านมา รัฐสภาไทยได้ดำเนินการด้านนิติบัญญัติอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้ STI เป็นกลจักรสำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน อาทิ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 โดยล่าสุดวุฒิสภาได้มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. .… ซึ่งจะส่งผลให้ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศเข้มแข็งยิ่งขึ้นในภาพรวม นอกจากนี้ รัฐสภาไทยยังได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ในการยกระดับคุณภาพการทำงานด้านนิติบัญญัติให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้ข้อมูลและกระบวนการทำงานของรัฐสภาเปิดกว้างและโปร่งใสต่อการตรวจสอบให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นไปโดยสะดวกยิ่งขึ้นเพื่อให้รัฐสภาไทยมุ่งสู่การเป็นรัฐสภาดิจิทัล รัฐสภาเปิด และรัฐสภาสีเขียวที่ลดการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มรูปแบบ โดยรัฐสภาไทยพร้อมที่จะขยายความร่วมมือกับรัฐสภามิตรประเทศในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ ฐานความรู้ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาสังคมในทุกมิติ ตลอดจนสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศเพื่อมุ่งสู่อนาคตอย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน รัฐสภาจึงมีหน้าที่สำคัญในการสร้างหลักประกันว่าวิทยาการที่ก้าวล้ำจะเป็นประโยชน์กับทุกคนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรมอย่างแท้จริง
            ด้าน นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร และนายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยมีวาระสำคัญในการพิจารณาแก้ไขร่างข้อมติ หัวข้อ The impact of artificial intelligence on democracy, human rights and the rule of law ซึ่งมีสมาชิกรัฐสภาจากแคนาดาและแทนซาเนีย ทำหน้าที่ยกร่างข้อมติในฐานะผู้ร่วมเสนอรายงาน (co-rapporteurs) โดยก่อนเข้าสู่การพิจารณาแก้ไขร่างข้อมติ นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุมถึงจุดยืนของรัฐสภาไทยในการสนับสนุนร่างข้อมติฉบับนี้ เนื่องจากข้อเท็จจริงทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศที่ยังไม่มีกฎระเบียบหรือกฎหมายที่สามารถกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ข้อมูลส่วนบุคคล กระบวนการประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม ดังนั้น รัฐสภาจึงมีบทบาทสำคัญในการแสวงหาความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การสร้างกรอบกฎหมายหรือหลักการในเชิงปฏิบัติเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนและกำกับดูแลการใช้งานเทคโนโลยี AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกมิติและครอบคลุมทุกส่วนของสังคม ทั้งนี้ การพิจารณาร่างข้อมติดังกล่าวจะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2567 เพื่อรับรองในชั้นคณะกรรมาธิการ และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสมัชชา IPU ในวันที่ 17 ตุลาคม 2567 เพื่อรับรองในขั้นสุดท้ายต่อไป
            ขณะที่ นายกัณวีร์ สืบแสง และนายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ วาระแรก โดยนายกัณวีร์ สืบแสง ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุมในหัวข้อ The role of parliamentarians in preventing conflicts over natural resources ว่า สมาชิกรัฐสภาสามารถมีส่วนต่อการป้องกันความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติได้ในวิธีการที่หลากหลาย ทั้งยังมีบทบาทเป็นผู้ผสานเชื่อมโยงประชาชน รัฐบาล และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการจัดการความขัดแย้ง ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะสมาชิกในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำหลากหลายกรอบ ได้แก่ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (MLC) ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (LMI) ทั้งยังเป็นประธานร่วมกรอบ MLC ร่วมกับจีน ได้นำแนวทางการทูตว่าด้วยน้ำผ่านกรอบ MRC และ MLC เพื่อปรับปรุงข้อมูลด้านน้ำและการบริหารจัดการเขื่อนระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งส่งเสริมและสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
            ส่วนนายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุมในหัวข้อ The role of parliamentarians in nuclear security ความว่า สมาชิกรัฐสภาสามารถมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางนิวเคลียร์และการปลดอาวุธโดยผ่านหน่วยงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวกับกฎหมายและการส่งเสริมนโยบายในเรื่องการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBT) เมื่อปี 2561 และเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มแรกที่ลงนามและให้สัตยาบันสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW) ไทยจึงยึดมั่นในการส่งเสริมหลักสากลของการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์และการลดอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งแสดงความหวังว่าทุกฝ่ายจะเคารพสนธิสัญญากรุงเทพ ที่ประกันให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ อันจะเป็นหนึ่งในรากฐานของสันติภาพและความมั่นคงในอาเซียนอย่างแท้จริง
           

สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ข้อมูล/ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ