17 ต.ค.67- อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วยหลังสภาฯ ปิดประชุมก่อนลงมติรายงานพิจารณาศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ชี้รัฐบาลควรนำความเห็นของ สส. ไปประกอบการจัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแล้วเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมหน้าโดยเร็ว

image

        นายชัยธวัช  ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายปกรณ์วุฒิ  อุดมพิพัฒน์สกุล และนายรังสิมันต์  โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังจาก ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณารายงานของคณะ กมธ.วิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว แต่นายพิเชษฐ์  เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้สั่งปิดประชุมก่อนที่จะมีการลงมติรายงานฉบับนี้ ว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วย และเห็นว่า การประชุมสภาฯ วันนี้ (17 ต.ค.67) ควรมีการลงมติรายงานฉบับนี้ให้แล้วเสร็จ และยังมี กมธ. วิสามัญ หลายคนที่รอลุกขึ้นอภิปรายเพื่อชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ เพื่อให้ สส. ที่ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกับรายงานฉบับนี้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารายงานฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมนี้หรือไม่ เมื่อเปิดสภาในสมัยประชุมหน้า ก็จะมีร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรม 4 ฉบับ เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สภาฯ ควรเร่งพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่อให้รัฐบาลได้นำข้อสรุปความเห็นจากที่ประชุมสภาฯ ไปประกอบการจัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เข้าสู่การพิจารณาพร้อมกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยการประชุมหน้าโดยเร็ว

        นายปกรณ์วุฒิ  อุดมพิพัฒน์สกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว ในช่วง 2 สัปดาห์ ที่ประธานในที่ประชุมสั่งปิดประชุมก่อนกรอบเวลาตามที่ที่ประชุมวิปทั้ง 2 ฝ่าย ได้มีการหารือและตกลงกัน ตนตั้งข้อสังเกตว่า พรรคฝ่ายรัฐบาลมีข้อกังวลเรื่ององค์ประชุมไม่ครบหรือไม่ แต่ยืนยันว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อมโหวต ไม่ว่าใครจะเป็นด้วยกับรายงานฉบับนี้หรือไม่ เพราะถือว่าเป็นวิถีของประชาธิปไตย หากเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยก็ส่งไปยัง ครม. แต่หากไม่เห็นด้วยรายงานฉบับนี้ก็ต้องตกไป ทั้งนี้ ตนเห็นว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งอาจจะมีการหารือที่ยังไม่ลงตัว อย่างไรก็ตาม วันพฤหัสบดีที่ 24 ต.ค.67 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็จะมีการพิจารณารายงานฉบับนี้ต่อ ซึ่งการเปิดให้ สส. อภิปรายอย่างกว้างขวางก็จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ที่สำคัญรายงานฉบับนี้ยังไม่ใช่การเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม หรือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรามาตรา 112 แต่เป็นการหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เหมาะสมกับสังคมไทย ดังนั้น รัฐบาลต้องหาทางออกในเรื่องนี้ให้ได้ เพราะการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในสัปดาห์หน้า ส่วนตัวเชื่อว่าทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ก็พร้อมลงมติ เพื่อให้เกิดความชัดเจน

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์   ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ