23 ก.ย. 67 - นายสนธิญา สวัสดี ยื่นคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 60 ต่อประธานรัฐสภา ชี้เป็นการละเมิดสิทธิผู้ลงประชามติจำนวน 16.8 ล้านคน ขอผู้ที่จะแก้ไขให้ความสำคัญความเดือดร้อนของประชาชน

image

          นายเจษ อนุกูลโภคารัตน์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับมอบหมายจากนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รับการยื่นหนังสือจากนายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ขอคัดค้านการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ของพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน และพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ร่วมกันแก้ไข โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ประเด็นจริยธรรม สส.และรัฐมนตรี ทั้งนี้ระบุว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้มาแล้ว 7 ปี 17 วัน ผู้ที่จะยื่นแก้ไขไม่ว่ามาตราใด ๆ ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ต่างผ่านการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 - 6 ปี ส่วนเหตุผลที่ตนเองยื่นคัดค้านในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้ที่ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จากประชาชนที่ลงมติจำนวนทั้งสิ้นกว่า 16.8 ล้านคน เมื่อปี พ.ศ. 2559 การกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ลงมติ จึงขอย้อนถามว่าผู้ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรมหรือเรื่องอื่น ๆ ได้ร่วมลงมติในการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวหรือไม่

          นายสนธิญา กล่าวต่อไปว่าการยื่นคัดค้านในครั้งนี้ ตนเองใช้สิทธิตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหากมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามายังสภาขออย่ารับร่างแก้ไขดังกล่าว และหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภา และเมื่อผ่านความเห็นชอบแล้วตนเองเชื่อว่าจะเกิดความขัดแย้งหนักหน่วงรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต โดยจะเป็นการสนับสนุน การเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันหลักของประเทศ เป็นการกระทำที่ไม่ได้แก้ปัญหาให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ แต่แก้ไขเพื่อกลุ่มพวกพ้อง และทำลายความชอบรรรมของระบบการคัดสรรเลือกตั้งบุคคลที่เป็นคนดีไม่ทุจริตโกงหรือค้ายาเสพติดเป็นไปตามการปฏิปประเทศไทย ที่มีประชากรกว่า 70 ล้านคน ที่ต้องคัดสรรคนที่มีประวัติ และ จริยธรรมไม่ดีเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศซึ่งเป็นไปตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างไรก็ตามหากมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนเองจะดำเนินการทางจริยธรรม โดยร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และทุกหน่วยงานให้ดำเนินการตรวจสอบต่อไป พร้อมขอให้ผู้ที่จะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญยึดการแก้ปัญหาประชาชนเป็นหลัก โดยเชื่อว่าคนจะดีหรือชั่วไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญแต่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล

           ด้านนายเจษ กล่าวภายหลังรับหนังสือ ว่าจะนำหนังสือดังกล่าวไปตรวจสอบตามกระบวนการทางสารบัญ และนำกราบเรียนให้ท่านประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรรับทราบต่อไป

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว /เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ