27 ก.ค.67- รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เตือนรัฐบาลเดินหน้าแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 450,000 ล้านบาท จะทำให้ประเทศเกิดภาระการคลังในระยะยาว หนี้สาธารณะพุ่งถึง 67% เกือบแตะเพดาน เสี่ยงงบประมาณไม่เพียงพอหากเกิดภาวะฉุกเฉิน แนะควรปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และและประชาชน ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย

image

        นายนพดล  มังกรชัย รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล ว่า โครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดภาระทางการคลังในระยะยาว ทำให้หนี้สาธารณะคงค้างในอนาคตของไทยพุ่งเกินกรอบวินัยการเงินการคลัง หรือเกินกว่า 70% ของ GDP ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด วันที่ 31 มี.ค.67 ไทยมียอดหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 11.47 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 63.67% ของ GDP หากมีการใช้เงิน 450,000 ล้านบาท เพื่อแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คาดว่าจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 67% ของ GDP เข้าใกล้เพดาน 70% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวินัยทางการคลังของรัฐบาลที่ต้องตามชำระหนี้ในระยะยาว อีกทั้งยังส่งผลให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นของรัฐบาลลดลงอย่างแน่นอน

        นายนพดล กล่าวด้วยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหลายหน่วยงาน ได้ออกมาเตือนว่าการเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนั้นเสี่ยงทำให้งบประมาณไม่เพียงพอในภาวะฉุกเฉิน การเพิ่มวงเงินกู้ปีงบประมาณ 2568 จนเกือบเต็มกรอบที่กฎหมายกำหนด ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว 5,000 ล้านบาท เทียบกับวงเงินคงเหลือเฉลี่ยในปีก่อนหน้าที่มากกว่า 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้ การจัดสรรวงเงินจากงบประมาณปี 2567 ทำให้งบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตัวเลขลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนอาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน

        นายนพดล ระบุว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวโดยรัฐแจกเงินจำนวน 450,000 ล้านบาท คิดเป็น 2.5% ของ GDP เข้าไปในระบบ โดยรัฐบาลคาดหวังว่าจะสามารถเพิ่ม GDP ได้ 1.2-1.8% นั้น เป็นการคาดหวังที่เกินจริงไปมาก เพราะเป็นการแจกเงินที่ใช้แล้วหมดไป เกิดการเติบโตระยะสั้น ไม่ได้ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ หรือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สุดท้ายอาจได้ไม่คุ้มเสีย ประกอบกับปัจจุบันมีข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัย ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงินมีค่าน้อยกว่า 1% ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับตัวทวีคูณของการใช้จ่ายผ่านเงินเครดิตประชาชน และการแก้หนี้เติมทุนอย่างเป็นระบบ ดังนั้น ตนขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และปรับเปลี่ยนกระบวนการขอสินเชื่อเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างแท้จริง

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ