28 มิ.ย.67 - เลขา กกต. เผย เลือก สว. มีคำร้องรวมทั้งหมด 614 คำร้อง ชี้ ปมฮั้ว-บล็อกโหวต ต้องดูว่าเข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายหรือไม่ ยืนยันประกาศผลทางการ 3 ก.ค.นี้ มอง ลงสมัครตามกลุ่มอาชีพ ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรรับรองก็ได้

image

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปภาพรวมการเลือก สว.ระดับประเทศ ว่า ผ่านไปด้วยความเรียบร้อยแม้ใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้เห็นใจ และเป็นกังวลที่ผู้สมัครซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิต้องมาอยู่เกือบทั้งวัน และไม่ได้ติดต่อกับครอบครัว เนื่องจากต้องเก็บโทรศัพท์ไว้  ทั้งนี้ ได้แจ้งผลคะแนนตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.แล้ว ซึ่ง กกต.ต้องรออีกไม่น้อยกว่า 5 วัน คือวันที่ 3 ก.ค. เป็นต้นไป จึงจะมีสิทธิประกาศผล หากเห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม กรณีที่มีการคัดค้านการเลือกก่อนประกาศผล ยังสามารถยื่นที่ศาลฎีกา และ กกต.ได้ภายใน 3 วัน ถ้าเห็นว่าการดำเนินการในวันเลือกไม่เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนถ้าเป็นกรณีเลือกที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม สามารถร้องที่ กกต.ได้ โดยจะพิจารณาก่อนส่งให้ศาล ทั้งก่อนและหลังประกาศผล ตามมาตรา 60 และมาตรา 62 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.
       

นายแสวง กล่าวต่อไปว่า กกต.พยายามรวบรวมพยานหลักฐานว่าจะดำเนินการเรื่องของความสุจริต และเที่ยงธรรม โดยเฉพาะการฮั้ว และการล็อกโหวต ซึ่งต้องดูตัวกฎหมายก่อนว่า การกระทำนั้นเป็นความผิดหรือไม่ มีองค์ประกอบความผิดว่าอย่างไร และหาข้อเท็จจริงเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายแล้วจึงวินิจฉัย ถ้าพื้นฐานการฮั้ว และล็อกโหวตคือเงิน ก็ผิดกฎหมายตามมาตรา 77 (1) การให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแน่นอน แต่ถ้าชวนกันมา และแลกโหวตกันโดยไม่เสียเงิน เป็นปัญหาทางกฎหมายที่จะบอกว่าผิดแค่ไหนอย่างไร จะพยายามรวบรวมหลักฐาน เพื่อหาข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุด


นายแสวง เปิดเผยว่า การเลือก สว.ตั้งแต่ระดับอำเภอจนถึงระดับประเทศ มีคำร้องทั้งหมด 614 คำร้อง เรื่องคุณสมบัติให้ลบชื่อ 65% คำร้องไม่สุจริต 14% เช่น ประเด็นการให้ทรัพย์สินตามมาตรา 77 คำร้องว่ามีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วยเหลือ 3% ส่วนที่เหลือเป็นคำร้องจ้างลงสมัคร เรียกรับให้ลงคะแนน รวมทั้งการนับคะแนน เจ้าหน้าที่ขานคะแนนในวันเลือก โดยในชั้นอำเภอร้องมากที่สุด คดีเหล่านี้ได้ให้ใบส้มไป ส่วนคำร้องระดับจังหวัดมี 75 เรื่อง และระดับประเทศยังไม่มี
      ส่วนกรณีที่มีรายงานว่าผู้สมัคร สว.บางคนเข้าห้องน้ำค่อนข้างนาน โดยยอมรับว่าผู้สมัคร สว.บางคนคุยกันจริง แต่จับยาก คนเข้าห้องน้ำคงคุยกันบ้างปกติ ทั้งนี้ มีคนของ กกต.ที่ประจำจุดอยู่ และก็ไม่พบการจ่ายเงินในห้องน้ำ จึงขึ้นอยู่ที่การสืบสวนแล้วว่าจะมีการจ่ายเงินทีหลังหรือไม่ อาจไปดูช่องทางการเงิน แต่การมาจ่ายเงินในห้องน้ำ คิดว่าไม่มี ส่วนคนที่ได้คะแนนเท่ากัน หรือได้ 0 คะแนน ต้องหาว่าถูกจ้างหรือไม่ ได้ประโยชน์อะไรหรือไม่ ซึ่งคำว่าประโยชน์กว้างมาก ต้องพิสูจน์
      นายแสวง อธิบายถึงขั้นตอนการเลือก สว.ว่า ตอนเช้ามีหน่วยประมาณ 150 คนต่อกลุ่ม ใช้เวลาลงเลขอารบิก 10 หมายเลข ต้องมาอ่านแต่ละกลุ่ม 1,500 ชื่อ อ่านช้าเพื่อความชัดเจน ช่วงบ่ายเลือกรอบไขว้ สายหนึ่งใช้เวลาอ่าน 8,000 ครั้ง เพราะมี 4 กลุ่ม ด้วยการที่ไม่ให้เอาโพยเข้าไป ผู้สมัคร สว.บางรายใช้เวลา 12 นาทีต่อคน ทำให้นาน และอ่านช้า ๆ ทีละกลุ่ม และใช้วิธีขีด 4 กระดานพร้อมกัน ถ้าเร่งก็จะรวนทันที ย้ำว่าอ่านช้า เพื่อให้ชัดเจน โปร่งใส ทั้งนี้ เชื่อว่าการเลือก สว.ครั้งหน้า การบริหารจัดการจะดีขึ้น 
      นายแสวง กล่าวว่า การลงสมัคร สว. คุณสมบัติหรือความรู้ในสาขาอาชีพที่ลง ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรรับรองก็ได้ กฎหมายอยากให้ประชาชนมาสมัครโดยไม่ต้องมีคนรับรอง ความรู้คือความรู้จริง ๆ ไม่ใช่จากใบปริญญา ให้ทุกคนมาสมัครได้ กฎหมายออกแบบว่า 20 กลุ่มอาชีพครอบคลุมสุด ออกแบบให้คิดว่าน่าจะเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยได้ และให้ทั้งตัวเองเป็นผู้ถูกเลือกได้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกได้ ซึ่งแตกต่างจาก สส.

ณรารัฏฐ์  โพธินาม / ข่าว เรียบเรียง
 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ