28 มิ.ย. 67 - รองประธาน กมธ. การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เรียกร้อง รมว. ต่างประเทศ แจงข้อเท็จจริงกรณี UNHCR เผยรายงาน 5 ธนาคารไทย เป็นแหล่งทำธุรกรรมใช้ซื้ออาวุธและยุทธปัจจัยให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมา ชี้กระทบความตกลงเรื่องมาตรการแซงชั่น

image

         นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองประธานกรรมาธิการการต่างประเทศสภาผู้แทนราษฎร แถลงกรณีรายงานประจำเดือนมิถุนายน 2567 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุข้อมูลในหัวข้อ  Banking on the Death Trade ถึงการมีธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศในหลายประเทศรวมทั้งธนาคารในประเทศไทย 5 แห่ง เป็นธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้ออาวุธและยุทธปัจจัยให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมา ตามรายงานยังระบุว่าธุรกรรมการทางการเงินเหล่านี้ เป็นการขัดกับมติของสหประชาชาติ (UN) เรื่องมาตรการแซงชั่นรัฐบาลทหารเมียนมา และหากเปรียบเทียบธุรกรรมทางการเงินในช่วงระหว่าง ก.ค. 65 - มิ.ย. 66 และ ก.ค. 66 - มิ.ย. 67 แล้ว มีการทำธุรกรรมผ่านธนาคารในประเทศไทยเพิ่มจาก 5 ล้านเหรียญสหรัฐเป็น 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเท่ากับปีเดียวเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า สำหรับรายชื่อธนาคารทั้ง 5 ของไทย 1 ในนั้นมีธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ออกมาปฏิเสธต่อสาธารณชนแล้วว่าเป็นธุรกรรมการเงินปกติ ตนจึงขอเรียกร้องให้ธนาคารของไทยอีก 4 แห่งที่ถูกอ้างชื่อในรายงานดังกล่าว คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทีเอ็มบีธนชาติและธนาคารกรุงไทย ออกมาชี้แจงแก่สาธารณะ ถึงความถูกต้องหรือขัดแย้งกับรายงาน

         นายจุลพงศ์ กล่าวต่อไปว่ารายงานของ UNHCR นี้ระบุถึงสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของธุรกรรมทางการเงินดังกล่าว ว่าเป็นเพราะรัฐบาลสิงคโปร์เพิ่มความเข้มงวดในเรื่องการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวกับการซื้ออาวุธและยุทธปัจจัยให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมา ประกอบกับบริษัทเอกชนในสิงคโปร์ที่ขายอาวุธและยุทธปัจจัยถูกรัฐบาลสิงคโปร์กดดันจึงย้ายฐานมาตั้งบริษัทในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มี 12 บริษัท ขณะส่วนตนเห็นว่าหากจะตั้งกระทู้ถามในสภา จะไม่ทันต่อห้วงเวลาที่กำลังจะมีการเลือกสมาชิกคณะมนตรีฯ และประเทศไทยส่งตัวแทนเข้าแข่งขัน ตนจึง

ขอเรียกร้องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ให้ออกมาชี้แจงถึงข้อมูลตามที่ปรากฏในรายงาน และแนวทางการดำเนินการของกระทรวงต่อกรณีที่เกิดขึ้นนี้ เพราะเกรงถึงการใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งขายอาวุธและยุทธปัจจัยให้รัฐบาลทหารเมียนมา รวมทั้งการทำธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นการขัดกับมติสหประชาชาติ 

ลักขณา เทียกทอง ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ