25 มิ.ย.67 - กมธ.ICT วุฒิสภา ติดตามความคืบหน้าการบังคับใช้และการดำเนินงานตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 พร้อมแนะแนวทางแก้ปัญหาและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ หวังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

image

   พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม (ICT) วุฒิสภา เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการบังคับใช้และการดำเนินงานต่าง ๆ ตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ณ ห้องประชุม CA 330 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) 

   โดยที่ประชุม กมธ.ICT วุฒิสภา ได้มีข้อเสนอแนะ 13 ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหาและการปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ อาทิ กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบการโทรคมนาคมต้องมีมาตรการบังคับให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตาม นอกจากนี้ กสทช. ต้องบังคับใช้มาตรการกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมให้รับผิดชอบซิมการ์ดของตนเองทุกเลขหมาย ซึ่งหาก กสทช. บังคับมาตรการกับผู้ให้บริการฯ ไม่ได้ กสทช. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง  รวมถึง กสทช. มักมีการตีความกฎหมายในลักษณะจำกัดอำนาจตนเองจนไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น กสทช. ต้องกล้าที่จะใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติในการกำกับดูแลและกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการโทรคมนาคม  ขณะเดียวกัน ตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งภาคธนาคาร ภาคโทรคมนาคม และตำรวจ ทั่วประเทศ มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติต่อประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย รวมถึงการดำเนินการต่อเหตุอันควรสงสัย หรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยว่าจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติได้อย่างมีมาตรฐานเดียวกัน  

   ด้านการป้องกันและปราบปราม ควรใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว แม่นยำ ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นใจในการดำเนินการ  ขณะเดียวกัน ควรประชาสัมพันธ์หมายเลขแจ้งเหตุของแต่ละธนาคารที่มีเจ้าหน้าที่เฉพาะทาง ให้ประชาชนได้ทราบอย่างแพร่หลาย เพื่อให้สามารถระงับธุรกรรมได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ควรแถลงข่าวเป็นประจำเพื่อให้ข้อมูลการจับกุุม การลงโทษ วิธีการหลอกลวง แนวทางการป้องกัน และข้อมูลอื่น ๆ ที่ประชาชนควรทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้ดิจิทัลและความตื่นรู้ในการป้องกันตนเองให้กับประชาชนอีกทั้งเป็นการป้องปรามผู้ที่จะกระทำความผิดด้วย  ส่วนภาคธนาคาร ควรจัดทำแอปพลิเคชันเพื่อตรวจสอบใบหน้าผู้รับโอนเงิน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องบัญชีม้าได้อย่างดี

   ขณะที่ การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาในกับประชาชน ไม่ควรรอการปรับปรุงกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประสานการทำงานระหว่างกันและอาศัยหน่วยงานที่มีอำนาจให้ช่วยดำเนินการทันทีไปพลางก่อน ตลอดจน การใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีในการสั่งการด้วย  พร้อมกันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายในขั้นต้นจนกว่าคดีจะถึงที่สุด คล้ายกับกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ  นอกจากนี้ การโทรศัพท์หลอกลวงหรือการโอนเงินออกจากบัญชีสามารถสืบค้นต้นตอหรือร่องรอยที่มาที่ไปได้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังโดยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือพิจารณาจากความเป็นเจ้าของซิมการ์ดและเจ้าของบัญชี

 

คณรัตน์ ยินดีมิตร / ข่าว / เรียบเรียง  

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ