13 ต.ค.67- กมธ. ทรัพยากรธรรมชาติฯ สว. พิจารณาแนวทางป้องกันน้ำป่าและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่เสี่ยง รูปแบบการทำเกษตรในพื้นที่เสี่ยงที่จะไม่ทำให้เกิดอุทกภัย พร้อมนำแนวทางการจัดการพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติฯ และกฎหมายว่าด้วยสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มาบังคับใช้ เพื่อช่วยประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินได้อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าได้

image

        นายชีวะภาพ  ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณาการเกิดสภาวะน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีพื้นที่เป้าหมายในการพิจารณา ได้แก่ พื้นที่ริมน้ำแม่สาย เขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พื้นที่บ้านห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย พื้นที่ชุมชนหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา พื้นที่ดินโคลนถล่ม ในเขตอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ ผู้แทนจากกรมทรัพยากรธรณี ได้มีข้อเสนอแนะให้เพิ่มประสิทธิภาพระบบเตือนภัยโดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการและชุมชน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันภัยดินถล่มที่เหมาะสมกับพื้นที่ จัดทำแผนรับมือภัยพิบัติที่ครอบคลุมทั้งประชาชนและนักท่องเที่ยว ตลอดจนทบทวนและปรับปรุงนโยบายการพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงทางธรณีวิทยา ขณะที่ผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้เสนอแนะให้มีการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและตรวจวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ให้มีความครอบคลุมและมีความแม่นยำยิ่งขึ้น มีระบบแจ้งเตือนภัยให้มีเอกภาพ มีความรวดเร็วและประชาชนเข้าถึงได้ง่ายในทุกพื้นที่ รวมทั้งพัฒนาแบบจำลองที่เหมาะสมสำหรับการพยากรณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและแบบจำลองภูมิอากาศเฉพาะของท้องถิ่น ส่วนผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ชี้แจงว่า สาเหตุของการเกิดอุทกภัยส่วนใหญ่เกิดจากปริมาณน้ำฝนมาก มีพื้นที่รับน้ำน้อย รวมถึงลักษณะทางกายภาพของแต่ละลุ่มน้ำ หากมีกิจกรรมการเกษตรบนพื้นที่ลุ่มน้ำจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ด้านล่างการจะบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความเสี่ยงจะต้องทำการศึกษาและจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องของแต่ละลุ่มน้ำ เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ด้านผู้แทนจาก คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้แจงว่าป่าไม้มีบทบาทในการป้องกันอุทกภัย สามารถช่วยลดความรุนแรงของฝนและยึดติดดินให้อยู่กับที่ และดินมีส่วนช่วยในการกักเก็บน้ำ แต่สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น ต้องใช้วิธีหรือเทคโนโลยีอื่น เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา

        ประธานคณะ กมธ. กล่าวว่า ที่ประชุม กมธ. มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการสำรวจพื้นที่เสี่ยง รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินและการทำเกษตรในพื้นที่เสี่ยงที่จะไม่ทำให้เกิดอุทกภัย ทั้งนี้ ควรนำแนวทางการจัดการพื้นที่ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประกอบกับมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาบังคับใช้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินได้อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา  ข้อมูล/ภาพ

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ