สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดรับฟังร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งนายเทอดชาติ ชัยพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ เป็นผู้เสนอ โดยที่มาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการความถนัดในระบบต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ อีกทั้งจัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งต้องมีการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ การดำเนินการ และตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการกำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษามีคุณภาพได้มาตรฐานสากล มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลกที่มีความรับผิดชอบต่อสิทธิ และหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญตามความถนัดของตน มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
นอกจากนี้ การจัดการศึกษาของประเทศจำเป็นต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ลดความซ้ำซ้อนการบริหารงาน กระจายอำนาจจากส่วนกลาง และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อสร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพครู ตลอดจนเสริมสร้างให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และเก็บเครดิตผ่านธนาคารสมรรถนะได้ สร้างเสริมธรรมาภิบาลของระบบการศึกษา ประกอบกับมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการศึกษา โดยเฉพาะให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูให้มีความรู้ความสามารถ ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน จึงสมควรมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติเพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแนวทางการบริหารและการจัดการศึกษาในอนาคต
สำหรับประเด็นเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... อาทิ เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการจัดการศึกษาของชาติโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ มีระบบการศึกษาตลอดชีวิต กระจายอำนาจสู่สถานศึกษาและหน่วยงานหรือองค์กรทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส ความเสมอภาค ความเป็นธรรม การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการบริหารและพัฒนาคุณภาพการศึกษา การจัดการศึกษาโดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษาร่วมกัน รวมทั้งการกำหนดรูปแบบ ระดับ และประเภทการศึกษาโดยรัฐต้องกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติ เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับแนวทางการจัดการศึกษาโดยรัฐต้องจัดให้ทุกคนมีสิทธิและโอกาสรับการศึกษาอย่างเสมอภาคโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอนุปริญญา และรัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทุกระดับให้มีมาตรฐานและคุณภาพ ส่งเสริมผู้เรียนให้มีศักยภาพประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษาทุกระดับ จัดหลักสูตรการศึกษาที่เหมาะสมกับผู้เรียนและสอดคล้องกับตลาดแรงงาน การกำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งการจัดระบบการบริหารการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาในทุกรูปแบบ ทุกระดับ และทุกประเภทการศึกษา กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสนับสนุนงบประมาณให้กับผู้เรียนและสถานศึกษาของรัฐได้ กำหนดให้รายได้ที่สถานศึกษาได้รับไม่ต้องนำส่งเป็นเงินรายได้ของแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยการงบประมาณ และเห็นว่าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... จะเปิดรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2568 โดยประชาชนที่สนใจสามารถติดตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้ ทางเว็บไซต์รัฐสภา www.parliament.go.th หัวข้อ การรับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ
อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง