นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน และประธานคณะอนุกรรมการด้านประสานงาน บริหารจัดการ รณรงค์และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการป้องกันและละอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน แถลงข่าวถึงมติของคณะกรรมการฯ ซึ่งได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการรองรับการป้องกันและลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เพื่อเสนอต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) เพื่อให้นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายนิกร ระบุว่า ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังกล่าว ประกอบด้วย 4 มาตรการหลัก คือ 1) มาตรการทางกฎหมาย ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้น ตลอด 10 วัน เทศกาลปีใหม่ 2568 ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2568 โดยกรณีผู้ขับขี่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนด ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบสวนขยายผล เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ขับขี่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ทุกกรณี รวมทั้งดำเนินคดีกับผู้ปกครองด้วย 2) มาตรการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านยานพาหนะ ที่ครอบคลุมทั้งด้านถนนปลอดภัย (Road Safety) และด้านยานพาหนะปลอดภัย (Safer Vehicles) หากตรวจพบการกระทำผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด เป็นต้น พร้อมกันนี้ ศปถ. ควรมีนโยบายในการบูรณาการกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ในการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บและบันทึกข้อมูลเพื่อให้เป็นมาตรฐานข้อมูลแห่งชาติและการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ นำมาวิเคราะห์ในเชิงลึกและกำหนดมาตรการที่ชัดเจนและตรงกับสาเหตุของปัญหา 3) มาตรการด้านการประชาสัมพันธ์ ทั้งการรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” หยุดพักเพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการหลับใน รวมถึงการจัดทำแผนการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ต่อร้านค้า/สถานประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมายด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกฎหมายอื่น ๆ อย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ควรให้กระทรวงมหาดไทย ประสานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้ร่วมดำเนินการประชาสัมพันธ์แก่ร้านค้าและประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ด้วย และ 4) มาตรการด้านการบริหารจัดการ ซึ่งจะเข้ามาเสริมประสิทธิภาพกับมาตรการของ นปถ. ในช่วงควบคุมเข้มข้น 10 วัน เช่น การคงจำนวนการตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์และด่านกวดขันวินัยจราจรไม่ให้ต่ำกว่าช่วงสงกรานต์ปี 2567 และเพิ่มการตั้งด่านฯ สำหรับจังหวัดที่มีความเสี่ยงช่วงเทศกาล การสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) เพิ่มจำนวนด่านชุมชนให้ครอบคลุมในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ ควรมีการจัดเตรียมความพร้อมของสภาพแวดล้อมก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาล โดยเฉพาะเรื่องของถนนและรถโดยสารสาธารณะ ควรเร่งแก้ไขจุดเสี่ยงให้แล้วเสร็จทันช่วง 10 วันอันตราย การตรวจเช็คสภาพรถโดยสารสาธารณะเพื่อให้เกิดความปลอดภัย
นายนิกร ย้ำว่า ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่คณะกรรมการฯ จัดทำขึ้นเพื่อเสนอต่อ นปถ. นั้น เน้นไปที่การป้องกันมูลเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน คือ ปัจจัยของมนุษย์ ปัจจัยด้านยานพาหนะ ปัจจัยด้านถนนและสิ่งแวดล้อม และปัจจัยด้านนโยบายเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งทุกปัจจัยต่างเชื่อมโยงกัน ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงเชื่อและหวังว่า ทั้ง 4 มาตรการที่เสนอ จะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อ นปถ. นำไปประกอบการพิจารณาเพื่อหาแนวทางในการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ณรารัฏฐ์ โพธินาม / ข่าว เรียบเรียง