นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาถามนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เรื่อง ความคืบหน้าการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะของ จ.นครราชสีมา ว่า จ.นครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่รองจากกรุงเทพมหานคร และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และขณะนี้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งสาธารณะและโลจิสติกส์ ทั้งรถไฟความเร็วสูง มอร์เตอร์เวย์ ระบบรถไฟทางคู่จาก กทม. - นครราชสีมา และจะมีการเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนตอนใต้ในอนาคต ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรและการเดินทางของนักท่องเที่ยวอย่างไร้รอยต่อ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ยังไม่เริ่มดำเนินการ ทั้งที่ทางเทศบาลนครราชสีมา ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม ได้ริเริ่มศึกษาแผนแม่บทและศึกษาความเหมาะสมทั้งด้านวิศวรกรรมและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2555 แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติในการกำหนดเส้นทางเดินรถ ดังนั้น ตนจึงขอสอบถึงความคืบหน้าการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะของ จ.นครราชสีมา อยู่ในขั้นตอนใด และมีทิศทางการพัฒนาอย่างไร
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับมอบหมายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เป็นตัวแทนตอบกระทู้ถามสด กล่าวชี้แจงว่า กระทรวงคมนาคมได้จัดทำโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทและศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยแบ่งออกเป็นรถไฟระบบรางเป็น 5 สาย ระยะทาง 47 กิโลเมตร โดยพบว่า ประชาชนต้องการรถด่วนทางพิเศษ มากที่สุด เพราะประหยัดและช่วยลดความแออัดได้ นอกจากนี้ ในปี 2560 สนข. ได้จัดทำโครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา พบว่าประชาชนต้องการลดระบบรางให้เหลือ 3 สาย และในปี 2562 รฟม. ได้จัดทำโครงการศึกษารายละเอียด ความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาโครงการระบบขนส่งมวลชน จ.นครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน - สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ พบว่าผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ 1.22 เท่า ขณะที่ผลตอบแทนทางสถานะการเงินต่ำกว่ามูลค่าของการลงทุน ดังนั้น รฟม. จึงมีการศึกษาเปรียบเทียบและมีการศึกษารูแบบดำเนินโครงการ รวมทั้งนำเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าเข้ามาเพื่อความเหมาะสม จากนั้น สนข. และ รฟม. ได้นำผลการศึกษาความคุ้มค่าการลงทุนมาประกอบการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (อจร.) จ.นครราชสีมา ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 พ.ค.67 ให้ปรับปรุงเพิ่มเติมโครงข่ายและแนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชน จ.นครราชสีมา และเสนอให้จัดทำโครงการข่ายระบบขนส่งมวลชน จ.นครราชสีมา ใหม่ ขณะนี้ ได้ข้อสรุปผลการปรับปรุงเส้นทางขนส่ง เป็น 5 สาย แบ่งเป็น สายสีส้ม สายสีแดง สายสีเงิน สายสีเหลือง และสายสีฟ้า อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ รฟม. ได้รับไปศึกษาเพิ่มเติมถึงเทคโนโลยีที่จะใช้ในเส้นทางดังกล่าว และจะเร่งรัดดำเนินการตามตามมติของที่ประชุม อจร. ภาคเอกชน และประชาชน ต่อไป
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง