26 ธ.ค.67- สส.ฐากร  ตัณฑสิทธิ์ พรรคไทยสร้างไทย ตั้งกระทู้ถามสดถึงการบังคับใช้ร่าง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ที่กำหนดให้ให้ค่ายโทรศัพท์มือถือ และธนาคาร ร่วมชดใช้ลูกค้าที่ถูกมิจฉาชีพหลอกลวง ด้าน รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดบังคับใช้ได้ภายในเดือน ม.ค.68

image

        นายฐากร  ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาถามนายประเสริฐ  จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้ค่ายโทรศัพท์มือถือ ธนาคาร ร่วมชดใช้ลูกค้าที่ถูกมิจฉาชีพหลอกลวง ว่า ตามที่ปรากฎว่ามีเครือข่ายอาชญากรรมไซเบอร์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้หลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก และจากสถิติของศูนย์บริการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 30 พ.ย.67 มีคดีออนไลน์จำนวน 739,494 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 77,360 ล้านบาท ผลการอายัดบัญชี 560,412 บัญชี ยอดเงิน 44,904 ล้านบาท แต่อายัดได้เพียง 8,627 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.15 เท่านั้น ขณะที่ ผู้ที่ถูกหลอกลวง ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ช่วงอายุ 31-40 ปี คิดเป็นร้อยละ 28.72 ล่าสุดสำนักงาจตำรวจแห่งชาติ ได้จับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีน 6 คน ที่ทำซิมบ็อก (Simbox) สามารถยึดซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือได้ถึง 2 แสนซิมการ์ด จึงมีข้อสังเกตว่าเหตุใดเครือข่ายอาชญากรรมดังกล่าวจึงครอบครองซิมการ์ดจำนวนมากได้ ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยกับรัฐบาลโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้พยายามผลักดันร่าง พ.ร.ก. ให้ค่ายโทรศัพท์มือถือ ธนาคาร ร่วมชดใช้ลูกค้าที่ถูกมิจฉาชีพหลอกลวง  ซึ่งข้อมูล ณ เดือน ต.ค.67 มีการลงทะเบียนซิมการ์ดทั้งหมด 115 ล้านเลขหมาย เป็นระบบรายเดือน (Post Paid) จำนวน 30.6 ล้านเลขหมาย และระบบเติมเงิน (Prepaid) จำนวน 84.9 ล้านเลขหมาย ขณะที่บัญชีธนาคารในประเทศไทย มีทั้งหมด 124 ล้านบัญชี ดังนั้น ตนขอสอบถามว่า ร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์และสาระสำคัญอย่างไร รวมทั้งมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อใด

        นายประเสริฐ  จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวชี้แจงว่า กระทรวงดิจิทัลฯ โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้มีมติให้สถาบันการเงินออกนโยบายและมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้สถาบันการเงินสร้างมาตรการและระบบเทคโนโลยีป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกหลอกลวงจากผู้ก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีและได้เสนอร่าง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน พ.ย.67 เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็น โดยหลังจาก ครม. เห็นชอบแล้ว ต้องส่งเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบร่างต่อไป และนำเข้า ครม. อีกครั้ง คาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ภายในเดือน ม.ค.68 ทั้งนี้ สำหรับการเพิ่มความรับผิดชอบของธนาคารและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ โดยตามกฎหมายไทยหากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สื่อสังคมออนไลน์ แพลตฟอร์มธนาคาร ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมที่ไม่มีการป้องกันเกี่ยวกับบัญชีม้า ซิมม้า และสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อไม่มีความระมัดระวังจะต้องร่วมรับผิดไปกับผู้กระทำความผิด ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีการทำ Customer Intelligence หรือมีการสร้างระบบ AI เพื่อคัดกรองธุรกรรมที่ต้องสงสัย สำหรับร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ จะมีการเยียวยาคืนเงินให้กับผู้เสียหายเร็วขึ้นกว่าเดิม ส่วนซิมการ์ดที่ไม่มีการยืนยันตัวตนอีกว่า 1.6 ล้านเลขหมาย นั้น หากพบว่าเป็นซิมการ์ดที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องการเครือข่ายอาชญากรรมไซเบอร์ก็จะต้องระงับทั้งหมด

 

ณัฐพล  สงวนทรัพย์  ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ