4 ต.ค. 67 – ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา เชื่อ สส. - สว. จะหาข้อยุติร่างกฎหมายประชามติได้ลงตัว ขอทุกฝ่ายทำงานร่วมกันไม่ตัดโอกาสร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

image

           นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายหลังมีข้อวิจารณ์ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เนื่องจากขณะนี้ควรเร่งแก้ปัญหาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมากกว่า ว่าเรื่องปัญหาอุทกภัยเป็นเรื่องฉุกเฉินเร่งด่วนที่ต้องทำแต่ขณะเดียวกันการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องที่ทุกพรรคการเมืองได้ประกาศหาเสียงเอาไว้และเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงมองว่าเป็นเรื่องผูกพันที่ต้องทำ แต่ขณะนี้มีปัญหาส่งผลต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีการคาดการณ์เรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประชามติที่มีความเห็นต่าง ซึ่งเดิมตามร่างของพรรคภูมิใจไทยใช้เสียงชั้นครึ่งคือต้องมีเกณฑ์ผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง และต้องมีเสียงเห็นชอบมากกว่าเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ได้มีการพูดคุยและปรับแก้เหลือ 1 ใน 4 แต่ต่อมามีการแก้ไขในช่วงการแก้เป็นรายมาตราต้องทำประชามติทั้งหมดจึงเป็นเหตุให้วุฒิสภานำมาอ้าง และปรับแก้ไปเป็นแบบ Double majority หรือการทำประชามติแบบ 2 ชั้น

          นายนิกร กล่าวด้วยว่าตนเองยังไม่หมดหวังต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อพิจารณาไทม์ไลน์แล้ว วุฒิสภาไม่ได้ดึงเรื่องการแก้ไขกฎหมายประชามติเพราะร่างกฎหมายได้ส่งกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยจะมีการพิจารณาในวันที่ 9 ต.ค. นี้ และเชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎรจะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภาและต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 2 สภา จึงยังมีโอกาส โดยในวันที่ 23 ต.ค. นี้ คณะกรรมาธิการ 2 สภาจะต้องตัดสินใจให้ได้ว่าจะตกลงกันอย่างไร โดยหากวันที่ 27 ต.ค. วุฒิสภายืนยันและวันที่ 30 ต.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมนี้ หากเห็นตรงกัน ก็สามารถส่งให้รัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ เชื่อว่าน่าจะทัน และสามารถทำประชามติรอบแรกพ่วงกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้

          นายนิกร กล่าวว่าขณะนี้ตนเองกังวลว่าเรื่องการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประชามติ จะเลยเถิด เพราะตามอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร สามารถยืนยันร่างแก้ไขของสภาผู้แทนราษฎรได้เลย โดยข้ามวุฒิสภา และต้องรอไว้ 6 เดือน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถกำหนดเรื่องการทำประชามติโดยทำแบบชั้นเดียวได้เลย ซึ่งเชื่อว่าจะผ่านแน่นอน แต่จะต้องเสียงบประมาณราว 3,500 ล้านบาท เพราะไม่ทันพ่วงกับการเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อกลับมาสภาแล้วต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้เกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น โอกาสที่จะได้เสียงสนับสนุน 1 ใน 3 หรือ 67 เสียงจากวุฒิสภา คงเป็นไปได้ยาก ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นไม่ได้เลย แม้กระทั่งการแก้ไขรายมาตรา เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้เกิดปัญหาลุกลาม เพราะกฎหมายทุกฉบับจะต้องผ่านวุฒิสภา ดังนั้นไม่ควรมีปัญหากันและต้องร่วมกันทำงาน

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ