18 ธ.ค. 65 - พรรคก้าวไกล เสนอนโยบายกู้วิกฤต SME ผ่าน "5 ต" สร้างแต้มต่อ-เติมทุน-ตัดต้นทุน-เติมตลาด-ตั้งสภา SME เสริมพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน

image

          นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวในวงเสวนาเรื่อง "อนาคต SME ไทย ภายใต้การเมืองไทย 2023” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมา ว่า ปัจจุบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SME) ยังคงไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการใส่ใจน้อยเกินไป โดยเฉพาะการช่วยเหลือสภาพคล่องระหว่างวิกฤต แม้จะมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน แต่ก็เป็นแหล่งทุนที่ผู้ประกอบการเข้าไม่ถึง ทำให้เกิดการฟื้นฟูจากโควิดที่ไม่เท่าเทียมกัน กลายเป็นหลุมที่ลึกมากในระบบเศรษฐกิจไทย
          นายพิธา อธิบายว่า ก่อนเกิดการะบาดของโควิด-19 SME ไทยเคยมีสัดส่วนอยู่ที่ 35.3% ของจีดีพี ปัจจุบันเหลือเพียง 34.9% ซึ่งแม้ลดลงไปไม่มาก แต่นับเป็นมูลค่าที่หายไปถึง 1.6 แสนล้านบาท จากระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อดูจากสัดส่วนงบประมาณ ที่ในปีล่าสุดมีอยู่เพียง 2.7 พันล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.09% ของงบประมาณทั้งประเทศเท่านั้น จากสัดส่วนของ SME ต่อจีดีพีที่มากถึง 35% ซึ่งสะท้อนถึงการไม่เห็นความสำคัญของ SME ขณะที่เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่ให้งบฯ SME ถึง 5 หมื่นล้านบาท หรือมาตรการซอฟต์โลนก็เต็มไปด้วยเงื่อนไขที่ทำให้ SME ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้
          ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล ได้เสนอเป็นนโยบาย เพื่อ SME ประกอบด้วย “5 ต” คือ 1. แต้มต่อ ให้ SME ผ่านหวย SME หรือเมื่อประชาชนซื้อสินค้าจาก SME ครบ 500 บาท ผ่านแอปพลิเคชันของรัฐสามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ 2. เติมทุน ให้เงินทุน SME ตั้งตัวรายละ 1 แสนบาท โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน 2 แสนรายต่อปี 3. ตัดต้นทุน หรือการลดรายจ่ายให้ SME ซึ่งจะเดินไปพร้อมกับนโยบายค่าแรง 450 บาท โดยให้ SME สามารถนำค่าแรงพนักงานไปหักภาษีได้สองเท่า และรัฐจะช่วยสนับสนุนเงินกองทุนประกันสังคมสำหรับพนักงานในธุรกิจ SME ในช่วงสองปีแรก 4. เติมตลาด ออกกฎกำหนดให้ต้องมีสัดส่วนสินค้า SME ในชั้นวางของห้างค้าปลีก เพื่อให้สินค้า SME เข้าถึงตลาดได้มากขึ้น และ 5. ตั้งสภา SME ให้การรวมตัวของ SME มีพลังต่อรองมากขึ้น นอกจากนี้ การยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและสร้างความยากลำบากในการทำธุรกิจของ SME รวมทั้งการมีหลักประกันให้ใบอนุญาตต้องได้รับการพิจารณาภายใน 15 วันด้วย


ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ