9 ก.ย. 67 – รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันรัฐบาลจัดเก็บรายได้ปี 67 เข้าประเทศได้ตามเป้า ส่วนการขาดดุลทางการคลัง มองเป็นเรื่องจำเป็นระยะสั้น ต้องรอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เชื่อภายในปี 71 สามารถลดการขาดดุลลงได้ 

image

            นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.คลัง) กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของรัฐบาล และมีผู้ตั้งข้อสังเกตกรณีการขาดดุลงบประมาณและการจัดเก็บรายได้ของประเทศไทย ว่าในภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของไทยช่วงที่ผ่านมาทำได้น้อยถือเป็นข้อเท็จจริง ทั้งนี้พบว่าการจัดเก็บรายได้ของไทยต่อค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ จีดีพี ลดลงมาอย่างต่อเนื่องใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา ปัจจุบันการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 14% หากเทียบกับประเทศที่มีขนาดใกล้เคียงกับประเทศไทย และมีศักยภาพใกล้เคียงกัน ควรจะจัดเก็บได้ไม่ต่ำกว่า 18 -19 % ยอมรับว่ากรณีนี้เป็นประเด็นปัญหาที่ทางหน่วยงานจัดเก็บมีแผนในการปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าในอนาคตจะสามารถดึงคนเข้าสู่ฐานภาษี และมีงบประมาณเพียงพอในการบริหารประเทศต่อไป 

         นายจุลพันธ์ กล่าวต่อไปถึงข้อห่วงใยเรื่องการจัดเก็บรายได้ช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการจัดเก็บรายได้ปี 67 ที่อาจมีการจัดเก็บพลาดเป้า ว่าในสมัยรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ได้ให้การช่วยเหลือประชาชนเรื่องราคาพลังงาน ทำให้การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตพลาดเป้าไปหลายหมื่นล้านบาท แต่จากการบริหารจัดการในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเหลือเพียงอีก 1 เดือนจะสิ้นสุดปีงบประมาณ 67 ยืนยันว่าการจัดเก็บรายได้ในปีนี้จะไม่พลาดเป้าและเป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้เพราะมีการใช้การบริหารจัดการในแง่มุมอื่น คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ การบริหารจัดการเรื่องรายได้รัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะทำให้การจัดเก็บรายได้ในปี 67 เป็นไปตามเป้าหมาย

         นายจุลพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปี 68 จะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายทุกประการ ส่วนเรื่องการขาดดุลงบประมาณซึ่งเป็นข้อห่วงใยของหลายฝ่าย กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการขาดดุลงบประมาณ มีการบริหารจัดการทำแผนการคลังระยะปานกลางและทบทวนแผนโดยตลอด ล่าสุดมีการทบทวนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยืนยันว่าประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศกำลังพัฒนายังมีความจำเป็นจะต้องทำนโยบายขาดดุลทางการคลังไปก่อนในระยะสั้น จนกว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้ และมีเสถียรภาพ โดยพร้อมจะขยับเข้าสู่การทำงบประมาณแบบสมดุลในระยะต่อไป อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีแผนที่จะดำเนินการเพื่อให้การขาดดุลงบประมาณลดลงเหลือร้อยละ 3.1 ต่อไปในอนาคตคือปี 71

 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง 

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ