9 ก.ย.67 - ประธานรัฐสภา มอบรางวัลโครงการพลเมืองสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่การเสริมสร้างบ้านเมืองสุจริตให้กับโรงเรียน และ อปท.ที่มีผ่านเข้ารอบจำนวน 20 ทีม ร่วมผลักดันสร้างนวัตกรรมสู่การเสริมสร้างบ้านเมืองสุจริตให้ตรงกับพื้นที่ท้องถิ่นของตน

image

          นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลโครงการ "พลเมืองสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่การเสริมสร้างบ้านเมืองสุจริต" โดยมี รศ.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะประธานอนุกรรมการพลเมืองสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่การเสริมสร้างบ้านเมืองสุจริต กล่าวรายงานณ ห้องโถง ชั้น B1 อาคารรัฐสภา
​          โดย ประธานรัฐสภา กล่าวให้โอวาทต่อเยาวชน ที่เข้าร่วมโครงการฯ ว่า ตนรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่มีโครงการนี้เกิดขึ้น และได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสถานศึกษา เพราะการที่จะทำให้ประเทศมีการปกครองที่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย สิ่งที่สำคัญคือ ต้องทำให้บ้านเมืองใสสะอาด ปกครองด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ประจักษ์เรื่องความสุจริต เพราะในโลกปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูง แต่แท้จริงแล้วความซื่อสัตย์สุจริต เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง บ้านเมืองจะเดินหน้าไปได้ ต้องประกอบด้วย การบริหารจัดการที่ซื่อสัตย์สุจริต นอกจากนี้ความซื่อสัตย์สุจริต ยังถือเป็น Soft Power อย่างหนึ่งของประเทศไทยด้วย เช่น การที่คนไทยมีความซื่อสัตย์สุจริต เมื่อมีนักท่องเที่ยวทำของหายและได้คืน ทำให้นักท่องเที่ยวอยากกลับมาท่องเที่ยวในไทยต่อ พร้อมย้ำว่าความซื่อสัตย์สุจริตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่คำพูด หรือบทลงโทษทางอาญา ทางวินัย หรือสิ่งที่เป็นเพียงมาตรการเท่านั้น แต่ในเบื้องต้นต้องเกิดจากการปฎิบัติตน ซึมซับ อบรม ในครอบครัว สถาบันศึกษา และชุมชน ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก จึงอยากให้ประเทศไทยฝึกฝนให้คนมีความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งนี้ ขอชื่นชมที่รัฐสภาได้ร่วมมือกับหลายฝ่ายที่จัดโครงการนี้ขึ้น และอยากให้ขยายโครงการนี้เป็นวงกว้างมากขึ้นด้วย
          ขณะที่ รศ.ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพลเมืองสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่การเสริมสร้างบ้านเมืองสุจริต กล่าวว่า ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยคณะอนุกรรมการสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่การเสริมสร้างบ้านเมืองสุจริต ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการบริหารโครงการเสริมสร้างบ้านเมืองสุจริต ได้ดำเนินกิจกรรมดังกล่าว โดยการประชาสัมพันธ์ไปยังเขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ รวม 25,960 แห่ง เพื่อสร้างทีมที่มีองค์ประกอบของเด็กและเยาวชนจำนวน 5 คน และที่สำคัญต้องให้มีองค์ประกอบของบุคลากรทางการศึกษา หรือบุคลากรของ อปท. อีก 2 คน เพื่อร่วมกันสร้างนวัตกรรมสู่การเสริมสร้างบ้านเมืองสุจริตให้ตรงกับพื้นที่ท้องถิ่นของตน ขณะเดียวกันต้องการให้บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม เนื่องจากเล็งเห็นว่าการคิดนวัตกรรมใดก็ตาม แม้จะมีความสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์แต่หากผู้บริหาร อปท. ไม่มีส่วนร่วมและไม่นำไปปฏิบัติก็ยากที่จะเกิดความสำเร็จอย่างแท้จริง
         ทั้งนี้ในการคัดเลือกและกลั่นกรองทีมที่เข้าร่วมโครงการในรอบแรกเหลือจำนวน 20 ทีม ได้มีการนำเสนอโครงการและตอบคำถามต่อคณะอนุกรรมการฯ ณ รัฐสภาเมื่อวานนี้ (8 ก.ย.) โดยรางวัลที่มีผลคะแนนระดับเป็นเลิศ TOP 10 ทีม ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร อาทิ ทีม Big Go No Klong จาก โรงเรียนเมืองพลพิทยาคม และเทศบาลเมืองเมืองพล จังหวัดขอนแก่น ภายใต้แนวคิดโครงการ NAILS เยาวชนต้นกล้าพัฒนาท้องถิ่นสู่ความยั่งยืน และทีม 19 กีฬาทุ่งสง จากโรงเรียนกีฬาเทศบาลเมืองทุ่งสง และเทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้แนวคิดโครงการรณรงค์ต่อต้านการโกงเวลาราชการ
          ส่วนอีก 10 ทีมที่มีผลคะแนนระดับชมเชยได้รับโล่รางวัลและประกาศนียบัตร อาทิ ทีมเด็กหัวใส จากโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมือง และเทศบาลเมืองลำพูน ที่มีแนวคิดภายใต้โครงการ เด็ก หัว แถว /ทีม MWK.ต้านทุจริต จากโรงเรียนแม่แอบวิทยาคม และเทศบาลตำบลบ้านแซว จังหวัดเชียงราย แนวคิดโครงการ ด.เด็กต้านทุจริต

อรุณี ตันศักดิ์ดา ข่าว/เรียบเรียง

ประมวลผลภาพ

วิดีโอ